ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์
เมื่อได้คิดตกลงใจอย่างนี้แล้ว จึงได้เริ่มทำงานต่อไปทันที คือเริ่มด้วย การปรับทุกข์
๑. เข้าพบพระอัมพวันเจติยาภิบาล (เจริญ ขันติโก) เจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยาราม เสนอความคิดสุดยอดว่า วัดอัมพวันเจติยาราม เป็นนิวาสถานเดิมของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ท่านต้ังบ้านเรือนอยู่ในบริเวณวัดนี้ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติที่บริเวณวัดนี้สมควรสร้างอนุสาวรีย์ของพระพุทธเลิศหล้านภาลัยไว้ในวัดนี้ พูดกับท่านว่า สมภารวัดอื่นสร้างอุโบสถกัน แต่วัดนี้มีสิทธิสร้างพระบรมรูปพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ประสูติในวัดนี้เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธุ์ พ.ศ.๒๓๑๐ ท่านจะมีชื่อเสียงโด่งดังมาก ท่านจะได้เป็นพระราชาคณะชั้นราช ท่านเจ้าคุณเห็นชอบด้วยเต็มที่ และขอให้เขียนประวัติวัดอัมพวันเจติยารามให้จะพิมพ์แจกในวัดทอดกฐินพระราชทาน
๒. งานปรับทุกข์สำเร็จแล้ว จึงเริ่มงานต่อไปคือ เขียนประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม แล้วพิมพ์แจก ๑,๐๐๐ เล่ม บอกข้อสรุปไว้ว่า วัดนี้เป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ต้องสร้างพระบรมราชานุสรณ์ไว้ที่วัดนี้
๓. เจ้าคุณจึงทำหนังสอกราบทูลขอสร้างพระบรมราชานุสรณ์พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่กรมศิลปากร อัญเชิญเสด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงเป็นประธานเททองหล่อพระบรมราชานุสรณ์
๔. เสร็จแล้วนำไปประดิษฐานที่บริเวณลานวัด
๕. จัดงานเฉลิมฉลอง ๒๐๐ ปี พระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่วัดอัมพวันเจติยาราม เป็นงานใหญ่ ดังไปทั่วเมือง เชิญกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรเสด็จไปเป็นประธานประดิษฐานพระบรมรูป
๖. มีงานแสดงละครนอก ๖ เรื่อง พระราชนิพนธ์พระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยขอให้โรงเรียนใหญ่ๆ รับไปจัดฝึกซ้อมมาแสดง โรงเรียนเชิญ ม.ล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีไปชมละครนอก ม.ล. ปิ่น มาลากุล ดีอกดีใจอย่างออกหน้า กล่าวชมทางโทรศัพท์ว่า สมุทรสงครามจัดการแสดงละครนอก ๖ เรื่อง ไม่มีใครเคยทำมาก่อน เรื่องนี้เป็นความคิดอำนวยการของข้าพเจ้า หวังจะโฆษณาเรื่องพระพุทธเลิศหล้าฯ ให้โด่งดัง ในฐานะ "พระมหากษัตริย์ชาวสมุทรสงคราม"
๗.ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้พาสมาชิกสมาคมผู้รักษาสมบัติวัฒนธรรมจำนวน ๖๐ คน ประกอบด้วยเจ้านายในราชวงศ์และผู้มีเกียรติสูงไปทัศนาจรเมืองสมุทรสงคราม ข้าพเจ้าจึงได้ถือโอกาส ปาฐกถาเรื่อง "ราชินีกุลบางช้าง" ให้ฟังเป็นเวลา ๒ ช.ม. บรรยายว่าสมเด็จพระอมรินทรามารย์ ประสูติที่เมืองสมุทรสงครามเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๘๐ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรา ประสูติที่บางช้าง เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๓๑๐ พระพุทธยอดฟ้าฯ ประทับอยู่เมืองสมุทรสงครามตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๐๔ ถึง พ.ศ. ๒๓๑๑ ทรงตั้งก๊กกู้ชาติที่เมืองสมุทรสงครามก่อนที่จะเข้าไปรวมกับก๊กพระเจ้าตากสินมหาราชที่เมืองธนบุรี ก๊กของหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จนได้ปราบการจราจลในกรุงธนบุรี แล้วปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธยอดฟ้าฯ พร้อมด้วยพระมเหสีจึงได้สร้างวัดอัมพวันเจติยารามขึ้นในบริเวณนิวาสถานเดิม ถึงรัชกาลที่ ๓ ได้บรูณะใหม่หมดทั้งพระอาราม สร้างพระปรางค์ขึ้นบรรจุพระอังคารธาตุของพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แล้วพระราชทานนามวัดว่า วัดอัมพวันเจติยาราม
คณะทัศนาจรของม.ล. ปิ่น มาลากุล สนใจฟังเงียบกริบ เรียกว่าฟังอย่างตาค้าง ม,ล. สุภัทรดิศ ดิศกุล คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ตรัสถามว่า "คุณไปเอามาจากไหน มาว่าอย่างนี้"
จึงทูลท่านว่า "ก็ปู่ของฝ่าบาทเขียนไว้เอง"
๘. ได้แต่งหนังสือ พงศาวดารราชินีกุลบางช้าง ออกเผยแพร่
๙. เขียนประวัติ พระอมรินทรามาตย์ ออกเผยแพร่
๑๐. เขียนประวัติ พระพุทธเลิศหล้าฯ ออกเผยแพร่
๑๑. เขียนหนังสือเรื่อง แปดก๊กกรุงสยาม ออกเผยแพร่ว่าเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว มีผู้ตั้งก๊กขึ้น ๘ ก๊ก (ไม่ใช่ ๖ ก๊ก) คือ
๑. ก๊กเจ้านครพัฒน์ นครศรีธรรมราช
๒. ก๊กเจ้าพิมาย พระองค์เจ้าแขก กรมหมื่นเทพพิชัย
๓. ก๊กเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง โรจนกุล)
๔. ก๊กเจ้าพระยากุลเถร (มหาเรือน) เมืองฝาง
๕. ก๊กสุกี้ (นายทองอินทร์) อยุธยา
๖. ก๊กนายบุญส่ง พระยาธนบุรี เมืองธนบุรี
๗. ก๊กพระเจ้าตากสิน จันทบุรี
๘. ก๊กหลวงอร่ามเรืองฤทธิ์ สมุทรสงคราม
การดำเนินการตามแผนการดังกล่าว เห็นผลทันตาในเวลาต่อมา คือ
๑. พระอัมพวันเจติยาราม สร้างพระบรมราชานุสรณ์พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ไว้ในลานวัด
๒. ม.ล. ปิ่น มาลากุล สร้างอุทยาน ร. ๒ ไว้ข้างวัดอัมพวันเจติยาราม ในที่ดิน ๒๗ ไร่
๓. สร้างสะพานสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ข้ามแม่น้ำแม่กลอง ที่บางคณฑี
๔. สร้างสะพานสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ข้ามแม่น้ำแม่กลอง ที่อำเภออัมพวา
๕. สร้างสะพานพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ข้ามแม่น้ำแม่กลอง ที่อำเภอเมือง สมุทรสงคราม
๖.เปลี่ยนชื่อ โรงพยาบาลสมุทรสงครามเป็นโรงพยาบาลพระพุทธเลิศหล้า