วันพุธที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2558

(ชีวประวัติ) ทรายเม็ดหนึ่ง ตอน........จัดตั้งโรงเรียนประชาบาล


จัดต้ังโรงเรียนประชาบาล 

     ตลอดเวลา ๒๖ ปีที่ทำหน้าที่ผู้บริหารการศึกษา  ในตำแหน่งศึกษาธิการอำเภอ  หัวหน้าส่วนการศึกษาจังหวัด   และผู้อำนวยการประุถมศึกษาจังหวัด  ได้เป็นผู้ริเริ่มจัดต้ังโรงเรียนประชาบาล  ๑๑ โรงเรียน คือ 
     ๑. โรงเรียนบ้านฉู่ฉี่  อำเภอเมืองสมุทรสงคราม
     ๒. โรงเรียนบ้านตะวันจาก อำเภอเมืองสมุทรสงคราม
     ๓. โรงเรียนบ้านลาดใหญ่  อำเภอเมืองสมุทรสงคราม
     ๔. โรงเรียนศรีศรัทธาธรรม  อำเภอเมืองสมุทรสงคราม
     ๕. โรงเรียนบ้านบางลี่  อำเภออัมพวา 
     ๖. โรงเรียนวัดภุมรินทร์  อำเภออัมพวา
     ๗. โรงเรียนวัดอินทาราม  อำเภออัมพวา
     ๘. โรงเรียนวัดไทร  อำเภอบางคณที
     ๙. โรงเรียนบ้านยายแพง  อำเภอบางคนที
     ๑๐. โรงเรียนจตุวัฎมหาราชานุสรณ์  อำเภออัมพวา 
     ๑๑. โรงเรียนวัดบางแก้ว  อำเภอเมืองสมุทรสงคราม 
     
     โรงเรียนประชาบาลทั้ง ๑๑ โรงเรียนนี้  นายเทพ สุนทรศารทูล ได้เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งด้วยตนเอง  มีหลักฐานปรากฎอยู่ในสมุดหมายเหตุรายวันโรงเรียนและประวัติโรงเรียนเหล่าน้ันทั้งสิ้น  บางแห่งต้องต่อสู้  เมื่อมีผู้ขัดขวาง  ไม่เห็นชอบด้วย  เช่น โรงเรียนวัดอินทาราม  อำเภออัมพวา  ต้องออกแรงสู้อย่างสุดแรง  เมื่อมีคณะกรรมการจังหวัด  ๒ คนไม่เห็นด้วย  คือศึกษาธิการจังหวัดและสาธารณสุขจังหวัด โดยกล่าวว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ  แต่ข้าพเจ้าต่อสู้อย่างแข็งแรง จนตั้งโรงเรียนวัดอินทารามได้สำเร็จ  เรื่องนี้พระครูพิศิษย์ประชานาถ (แดง)  เป็นพยานได้  
(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

วันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2558

(ชีวประวัติ) ทรายเม็ดหนึ่ง ตอน .......บุคคลสำคัญเมืองสมุทรสงคราม


บุคคลสำคัญเมืองสมุทรสงคราม

     บุคคลสำคัญเมืองสมุทรสงคราม ในสมัยสงครามค่ายบางกุ้ง คือ 
     ๑. หลวงอร่ามเรืองฤทธิ์(ทองด้วง)  ยกกระบัตรเมืองสมุทรสงคราม ได้เลือนยศเป็นพระราชวรินทร์ พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยายมราช เจ้าพระยาจักรี และสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก จนได้ปราบดาภิเษกเป็นพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก 
     ๒. พระมหามนตรี (บุญมา) น้องหลวงอร่ามเรืองฤทธิ์ ยกกระบัตรเมืองสมุทรสงคราม ได้เลื่อนยศเป็น พระยาอนุชิตราชา พระยายมราช เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช  จนกระทั่งเป็นสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระมหาอุปราช 
     ๓. คุณนาค ธิดาเศรษฐีบางช้าง ได้เป็นสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระมเหสีพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก 
     ๔. หลวงชลสินธุ์สงคราม (ศร)  ปลัดเมืองสมุทรสงคราม ได้เป็นพระแม่กลองบุรี  เจ้าเมืองสมุทรสงครามในสมัยกรุงธนบุรี  แล้วได้เป็นพระยาแม่กลองบุรีศรีมหาสมุทรสงครามในสมัยรัชกาลที่ ๑
     ๕. จีนกุน  นายทหารจีนผู้รักษาค่ายบางกุ้ง  ได้เป็นพระราชประสิทธิ(กุน)  ในสมัยกรุงธนบุรี  เป็นพระยาโกษาธิบดี แล้วเป็นเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน รัตนกุล)  ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้มาสร้างวัดใหญ่ขึ้น  เป็นวัดหลวงใหญ่โตในเมืองสมุทรสงคราม 
     ๖. พระแม่กลองบุรี (เสม)  เจ้าเมืองสมุทรสงคราม ได้เป็นพระยาอมรินทรฤาไชย เจ้าเมืองราชบุรี สมัยกรุงธนบุรี  แล้วเป็นเจ้าพระยาอมรินทรฤาไชย  ในสมัยรัชกาลที่ ๑
     ๗. คุณแสง  บุตรเจ้าพระยาอมรินทรฤาไชย (เสม) ได้เป็นจมื่นสะท้านมณเฑียร  แล้วเป็นพระยาอมรินทรฤาไชย เจ้าเมืองราชบุรี แล้วเป็นเจ้าพระยาองศาสุรศักดิ์ สมุหนายกในรัชกาลพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ท่านผู้นี้มาสร้างวัดบางแคใหญ่เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๗
     ๘. หม่อมบุนนาค ทนายคนสนิทของหลวงยกกระบัตร(ทองด้วง)   ได้เป็นพระยาอุไทยธรรม  และเจ้าพระยามหาเสนา(บุนนาค)  ในรัชกาลที่ ๑  ท่านผู้นี้เคยหลบภัยพม่ามาอาศัยอยู่กับพระพุทธยอดฟ้า ฯ  สมัยกรุงแตก เป็นตระกูลใหญ่ค้ำจุนราชบัลลังก์พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี
     ๙. คุณแก้ว  พี่สาวของพระพุทธยอดฟ้า ฯ  เคยหลบภัยพม่ามาอาศัยน้องชายอยู่ที่เมืองสมุทรสงคราม ได้มาคลอดธิดาชือ บุญรอด ที่เมืองสมุทรสงคราม  ต่อมาได้เป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ธิดาของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ได้เป็นสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระมเหสีพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  เป็นพระราชมารดาของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  
(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2558

(ชีวประวัติ) ทรายเม็ดหนึ่ง ตอน.... ค่ายบางกุ้ง


ค่ายบางกุ้ง

     ข้าพเจ้ามีความมุ่งหมายจะปลุกปัญญาของคนเมืองสมุทรสงครามให้ตื่นตัวในเรื่องประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองสมุทรสงคราม ที่เกือบทุกคนไม่รู้เรื่องอดีตกาล เมื่อ ๒๐๐ ปี ล่วงมาแล้ว  จึงได้ทำการ ๓ อย่าง 
     ๑. จัดการแสดงละครประวัติศาสตร์กลางแจ้ง  เรื่องสงครามตีค่ายบางกุ้ง  เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๑  เมื่อคนจีนในเมืองแม่กลอง ได้รวมกำลังกันรักษาค่ายบางกุ้งไว้  ค่ายบางกุ้งคือ ค่ายทหารในสมัยพระเจ้าเอกทัต  เมื่อกรุงแตก ค่ายทหารแห่งนี้ก็แตกร้างไป ครั้นแล้วคนจีนในเมืองแม่กลอง ได้เข้ารักษาค่ายบางกุ้งไว้เรียกว่าค่ายจีนบางกุ้ง  ต่อมาทหารพม่า ๒,๐๐๐ คน ได้มาล้อมค่ายนี้ไว้ในสมัยกรุงธนบุรี  พระเจ้าตากสินมหาราช จึงสั่งให้พระมหามนตรี (บุญมา)  น้องชายหลวงอร่ามเรืองฤทธิ์ (ทองด้วง)  ยกทัพเรือมาตีค่ายบางกุ้งคืนด้วยเรือรบ (เรือแจว) ๒๐ ลำ ทหาร ๒,๐๐๐ คน โดยพระเจ้าตากสินมหาราชคุมพลมาข้างหลัง  รุ่งเช้าเข้าตีพม่าที่ล้อมค่ายจีนบางกุ้ง  ไล่ฆ่าฟันทหารพม่าตายไป ๑๕๐๐ คน ศพลอยในแม่น้ำแม่กลอง  ที่เหลือแตกหนีกลับไป จึงจัดให้มีการแสดงละครกลางแจ้งเรื่องตีค่ายจีนบางกุ้ง   โดยให้กำนันผู้ใหญ่บ้านแสดงเป็นทหารไทยให้คนจีนแต่งกายเป็นทหารจีน  ละครกลางแจ้งเรื่องนี้เล่นกันจริงจังสนุกสนานมาก 
     ๒. แต่งหนังสือเรื่องค่ายบางกุ้ง  ออกเผยแพร่ ๑๐๐๐ เล่ม แสดงประวัติศาสตร์เรื่องนี้ จำหน่ายเล่มละ ๑๐ บาท 
     ๓. สร้างเหรียญพระเจ้าตากสินเผด็จศึกค่ายบางกุ้ง  จำนวน ๑๐,๐๐๐ เหรียญ ทำขึ้นพุทธาภิเษกที่อุโบสถวัดบางกุ้ง  จำหน่ายเหรียญละ ๒๕ บาท  เอาเงินมาสร้างค่ายลูกเสือบางกุ้งได้เงินหลายแสนบาท นิมนต์พระเกจิอาจารย์(พระอาจารย์ยอดเยี่ยม)  มาจากหลายจังหวัด เป็นพิธีพุทธาภิเศกที่เลื่ืองลือชื่อกันมาในคราวน้ัน 
     ทั้ง ๓ เรื่องนี้ทำให้ชาวเมืองสมุทรสงครามตื่นเต้นกันมาก รู้ประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองย้อนหลังไป ๒๐๐ ปี   นับว่า การจุดประกายทางปัญญาคราวนี้ได้ผลดีเกินคาดหมาย  จนกระทั่งเกิดความอิจฉาริษาขึ้น เจ้านายไม่ชอบหน้า  หาทางกลั่นแกล้งต่างๆ แต่น่าอัศจรรย์ที่ท่านที่กลั่นแกล้งข้าพเจ้าถูกย้ายออกจากเมืองสมุทรสงครามในเวลาต่อมาทั้ง ๓ ท่าน  ส่วนข้าพเจ้าคงอยู่เมืองสมุทรสงครามต่อไป 
(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

(ชีวประวัติ) ทรายเม็ดหนึ่ง ตอน.... กาพย์พญากงพญาภาณ


กาพย์พญากงพญาภาณ

     เพราะเหตุว่าได้อุปสมบทที่องค์พระปฐมเจดีย์   อันเคยเป็นเจดีย์โบราณสมัยพญากงพญาภาณครองเมืองทวาราวดี  เมื่อพุทธศักราช ๓๐๐ ปี   จึงคิดอยากจะตอบแทนแผ่นดินเกิด  จึงได้แต่งกาพย์พญากงพญาภาณขึ้นเรื่องหนึ่งเป็นคำกาพย์   พิมพ์จำหน่ายในเวลาต่อมา มีคนสนใจมาก จนกระทั่งพระครูปราการลักษณาภิบาล (สมพงษ์)  เจ้าอาวาสวัดปิ่นเกลียว  ได้ขออนุญาตนำไปพิมพ์ครั้งที่สอง จำหน่ายในงานผูกพัทธสีมา  วัดปิ่นเกลียว  หนังสือกาพย์พญากงพญาภาณจึงเผยแพร่ออกไปในวงกว้างขึ้น  ข้าพเจ้าภาคภูมิใจมากที่ได้แต่งกาพย์พญากงพญาภาณขึ้น  เป็นวรรณคคีพระพุทธศาสนาที่สำคัญในอนาคตกาล   หนังสือเรื่องนี้แต่งโดยเทพดลใจจริงๆ  แต่งจบภายใน  ๓๐ วัน อย่างไม่น่าเชื่อตัวเอง ก็อัศจรรย์ใจว่าทำไมจึงแต่งได้รวดเร็วเช่นนี้   จ้างสักหมื่นให้แต่งใหม่ก็แต่งไม่ได้ 
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2558

(ชีวประวัติ) ทรายเม็ดหนึ่ง ตอน .... หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม


หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม 

     เพราะเหตุที่มีความเลื่อมใสศรัทธาจึงนิมนต์หลวงพ่อเงิน วัดดอนยาหอม เป็นพระอุปัชฌาชย์  แล้วก็ได้ตอบแทนบุญคุณหลวงพ่อตามสติปัญญา  จึงได้แต่งประวัติหลวงพ่อเงิน  ขึ้นเป็นเล่มพิมพ์เผยแพร่ในเวลาต่อมา  มีคนนิยมอ่านกันมากพอสมควร พิมพ์ ๓๐๐๐ เล่ม จึงหมดในเวลาไม่นาน  หลวงพ่อเงินท่านปรารถนาพระโพธิญาณในอนาคต  เหมือนท่านบัณฑูรสิงห์ แห่งเมืองสมุทรสงคราม  มีหลายคนเชื่อว่าพญากงแห่งยุคทวาราวดี ผู้ครองเมืองทวาราวดี เมื่อพ.ศ.๓๐๐  กลับชาติมาเกิดเป็นหลวงพ่อเงินองค์นี้   ข้าพเจ้าเองก็เชื่อเช่นน้้น  ท่านจึงไปเกิดที่ตำบลยายหอม  ซึ่งตามตำนานน้ัน ยายหอมคือมารดาเลี้ยงของพญาภาณ  ส่วนพญาภาณผู้ทำปิตุฆาตฆ่าพญากง  และฆ่ายายหอมมารดาเลี้ยง ยังเสวยนรกอยู่ 

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ชีวประวัติทรายเม็ดหนึ่ง ตอน.... บวชฉลองกึ่งพุทธกาล


บวชฉลองกึ่งพุทธกาล

     พ.ศ. ๒๕๐๐ มีข้าราชการลาบวชฉลองกึ่งพุทธกาลกันมากถึง ๒๕๐๐ คน ในงานฉลองกึ่งพุทธกาล  ข้าพเจ้าจึงลาราชการออกบวช  เมื่อวันที่ ๑๐  กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๐  พ่อตายแล้ว  จึงไปอยู่เอาคุณปู่ทองอยู่ ภูมิรัตน์  มาสะพายบาตร ไปบวชที่วัดพระปฐมเจดีย์  ซึ่งมีอุโบสถอยู่บนระเบียงบฃลานพระปฐมเจดีย์ชั้นสอง  พระอุโบสถหลังนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างไว้บนลานเจดีย์องค์พระปฐมเจดีย์  ทรงเอาพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา สลักด้วยหินสีขาวในสมัยทวาราวดี ซึ่งพบที่หลังองค์พระปฐมเจดีย์ ๔ องค์ องค์หนึ่งเอาไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ  องค์หนึ่งเอาไปไว้ที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดอยุธยา  องค์หนึ่งเอาไปตั้งไว้ที่ลานเจดีย์ ชั้น ๑  บนบันไดทิศทักษิณ  อีกองค์หนึ่งเอาเป็นพระประธานในพระอุโบสถบนลานเจดีย์ชั้นสอง  ข้าพเจ้าได้อุปสมบทต่อหน้าพระพักตร์พระประธานศิลาปางปฐมเทศนาสมัยทวาราวดีองค์นี้ 

     พระอุปัชฌาชย์ คือ  พระราชธรรมาภรณ์ (หลวงพ่อเงิน จันทสุวรรโณ)  เจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม  ซึ่งเกิดปีเดียวกับพ่อ คู่สวดคือ  พระครูปฐมเจติยาภิบาล (ป่วน)  วัดพระปฐมเจดีย์ กับ หลวงพ่อเฟื่อง วัดห้วยจระเข้    ข้าพเจ้าได้รับฉายาว่า ฉันทธัมโม  เมื่อบวชจึงมีนามว่า พระภิกษุเทพ ฉันทธัมโม (แปลว่า ผู้พอใจในธรรม)  บวชแล้วได้ติดตามหลวงพ่อเฟื่องไปอยู่วัดห้วยจระเข้ มีเจตนาว่า อยู่ใกล้บ้านแม่ตอนเช้าจะได้เดินทางไปบิณฑบาตรถึงบ้านให้แม่ได้ตักบาตรทุกวัน   เป็นการโปรดมารดาตามความคิดของตนเอง จึงได้เดินทางด้วยเท้าเปล่าไปบิณฑบาตรให้แม่ได้ตักบาตรทุกวันตลอดเวลา ๙๐ วัน 
     ระหว่างบวชไม่ได้เรียนปริยัติธรรม ไม่ได้ฝึกสมาธิวิปัสสนา เพียงแต่ลงโบสถ์สวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็นทุกวัน  แล้วสอบนักธรรมได้รับประกาศนียบัตรนักธรรมตรี 
     บวชอยู่ ๙๐ วัน แล้วเดินทางไปลาสึกกับพระธรรมปิฎก (สนิท เขมจารี)  เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม  เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๐
     พักบ้านคืนเดียว รุ่งเช้าก็เดินทางไปประชุมเรื่อง วิทยุโรงเรียนที่ตึกมหาราช ตำบลอ่างศิลา   จังหวัดชลบุรี 
      การประชุมนี้ เข้าประชุมบ่อยๆ นับร้อยครั้งจนจำไม่ได้ว่า เข้าประชุมอบรมประชุมสัมมนาว่าด้วยเรื่องอะไรบ้าง  ครั้งละ ๗ วัน ๑๕วัน  ๑ เดือน ๓ เดือน ตลอดเวลาที่เป็นข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ  ประชุมบ่อยที่สุด อบรมบ่อยที่สุด  ประชุมสัมมนาบ่อยที่สุด  แต่มีความเสียใจที่จะบอกว่า  ไม่มีการติดตามประเมินผลว่าได้ผลงานอะไรขึ้นมาบ้าง  การบริหารงานการศึกษาจึงค่อนข้างจะว่างเปล่า  ล้มเหลว เป็นการบริหารงานแบบเก่าแก่โบราณล้าสมัยเต็มที 
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558

(ชีวประวัติ) ทรายเม็ดหนึ่ง ....ตอน เป็นศึกษาธิการอำเภอหนุ่มใหญ่


เป็นศึกษาธิการอำเภอหนุ่มใหญ่

     นายเทพ  สุนทรศารทูล เป็นศึกษาธิการอำเภอเมือง สมุทรสงครามเมื่ออายุ ๒๙ ปี ยังโสดอยู่  สมัยก่อนศึกษาธิการอำเภอมักจะเป็นคนมีอายุสูง   เมื่อนายเทพ สุนทรศารทูล เป็นศึกษาธิการอำเภอเมื่ออายุยังน้อยอยู่   จึงเป็นเรื่องตื่นเต้นกันในหมู่ครูอาจารย์   บางคนชมว่าหนุ่มรูปหล่อ  บางคนว่าศึกษาหน้ามน  บางคนว่ารูปร่างเหมือนออร์ดี้ ้เมอร์ฟี่  พระเอกหนัง บางคนพูดว่ารู้ตัวหรือเป็นชายรุปหล่อ


     แต่นายเทพ  สุนทรศารทูล ไม่ได้ตื่นเต้นมากนัก ไปตื่นเต้นอยู่แต่เรื่องวงศ์สกุลของตัวเองว่าสืบมาจากวงศ์ราชินีกุลบางช้าง   จึงได้ลงมือศึกษาค้นคว้าจากหนังสือ  ลำดับวงศ์ราชินีกุลบางช้าง  หรือ พงศาวดารราชินีกุลบางช้าง  ก็ได้ทราบโดยแนชัดว่าสืบวงศ์ลงมาตามลำดับต้ังแต่พระมหาธรรมราชาธิราช (ขุนพิเรนทรเทพ)  เชื้อสายกษัตริย์ราชวงศ์สุโขทัย  ที่กระทำการปราบปรามขุนวรวงศาธิราช  ประหารชีวิตเสียพร้อมกับท้าวศรีสุดาจันทร์  แล้วยกพระเธียรราชา  อนุชาพระไชยราชาธิราช  ขึ้นเป็นพระมหาจักรพรรดิ์  ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา   พระมหาจักรพรรดิ์สถาปนาขุนพิเรนทรเทพ  เชื้อสายกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย   ขึ้นเป็นพระมหาธรรมราชาธิราช  อุปราชครองเมืองพิษณุโลก   ยกพระวิสุทธิกษัตริย์ราชธิดาให้เป็นมเหสีของพระมหาธรรมราชาธิราช    มีราชบุตรสืบวงศ์ต่อมา ๔ องค์ คือ
     ๑. พระองค์เจ้าหญิงอำไพวรรณ
     ๒. พระองค์เจ้าหญิงสุพรรณกัลยา
     ๓. พระองค์เจ้าชายนเรศวร
     ๔. พระองค์เจ้าชายเอกาทศรถ 
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558

(ชีวประว้ติ ) ทรายเม็ดหนึ่ง ....ตอน... ไปเมืองสุพรรณบุรี



ไปเมืองสุพรรณบุรี

               ยังจดจำคำสั่งของพ่อว่า  ให้ไปหาคุณพระภักดีศรีสุพรรณภูมิ (สุด ) ผู้เป็นน้องชายปู่เวก  ที่สุพรรณบุรีเพื่อขอใช้นามสกุล  "สุนทรศารทูล"
              วันหนึ่งจึงได้เดินทางไปจังหวัดสุพรรณบุรี  ได้พบคุณปู่พระภักดีศรีสุพรรณภูมิ (สุด สุนทรศารทูล) ที่บ้านท่านในเมืองสุพรรณบุรี  คุณปู่พระภักดีศรีสุพรรณภูมิ และคุณย่าทิม ได้ต้อนรับอย่างอบอุ่นในฐานะเป็นลูกหลาน   คุณย่าทิม ถึงแก่เข้าครัวทำอาหารเลี้ยง เมื่อรู้ว่าเป็นหลานปู่เวก  คุณปู่พระภักดี ฯก็ดีใจ   เอาแผนผังนามสกุลมาตรวจดูว่าสืบสกุลมาอย่างไร   ในแผนผังนามสกุลนั้น คุณปู่พระภักดี ฯทำไว้อย่างละเอียด  นับแต่ต้นวงศ์คือ พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม (เสือ สุนทรศารทูล)  
     สายที่ ๑   พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม  (เสือ สุนทรศารทูล)    มีคุณหญิงชื่อ นาค มีบุตรชื่อ สว่าง  ได้เป็นพระยาสุนทรบุรี (สว่าง สุนทรศารทูล ) เจ้าเมืองนครไชยศรี
     สายที่ ๒ พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม  (เสือ  สุนทรศารทูล) มีภรรยาชื่อว่า คุณเสน  มีบุตรชื่อหลวงโภชสารี (หรุ่น สุนทรศารทูล) เป็นผู้ช่วยราชการเมืองนครไชยศรี
     สายที่ ๓ พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม (เสือ สุนทรศารทูล)  มีภรรยาชื่อ คุณแสง  มีบุตรชื่อ  หลวงสากลพิทักษ์ (หมี สุนทรศารทูล)  เป็นยกกระบัตรเมืองนครไชยศรี
     สายที่ ๔ พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม (เสือ สุนทรศารทูล)  มีภรรยาชื่อ คุณอ่วม  มีบุตรชื่อ นายจี่ และนายเอี่ยม สุนทรศารทูล 
     สายที่ ๕ พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม (เสือ สุนทรศารทูล) มีภรรยาชื่อ ชิ้น  มีบุตรชื่อ ชุบ  เป็นขุนอุภัยภาดาเขตต์ (ชุบ สุนทรศารทูล)  นายอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี  
     ในแผนผังวงศ์สกุลน้้น ได้แสดงสายสืบลงมาอีกหลายชั้นจนถึงปัจจุบันนี้ 
      เมื่อถามถึงพระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม (เสือ สุนทรศารทูล) ว่า สืบวงศ์มาจากขุนนางสายไหน
     ท่านบอกว่า 
     "สืบวงศ์มาจากวงศ์ราชินีกุลบางช้าง"
     ท่านพูดต่อไปว่า
     "แต่เขาห้ามกันมาในวงศ์สกุลว่า ไม่ให้กล่าวถึงเพราะเป็นการบังอาจเอื้อมไปนับวงศ์ญาติกับพระเจ้าอยู่หัว ไม่เป็นสิริมงคลแก่ตัวและวงศ์ตระกูล"
     แล้วพระภักดีศรีสุพรรณภูมิ (สุด สุนทรศารทูล)  ก็เขียนหนังสืออนุญาตให้ใช้นามสกุล สุนทรศารทูล  แต่ท่านมีจดหมายบอกไปทาง คุณอาถวิล สุนทรศารทูลว่า  อนุญาตให้นายเทพ  สุนทรศารทูล หลานของนายเวก ใช้นามสกุล  สุนทรศารทูล ต่อไป
     นายเทพ สุนทรศารทูล   จึงถือหนังสือไปพบคณอาถวิล  สุนทรศารทูล  ปลัดกระทรวงมหาดไทย คุณอาถวิล สุนทรศารทูล พูดว่า 
     "เราขาดการติดต่อกันมานาน  เมื่อเจ้าของท่านอนุญาตแล้ว ก็มีสิทธิใช้นามสกุล  สุนทรศารทูล ได้"
     นับแต่ พ.ศ.๒๕๐๑  นายเทพ  ศรีธนทิพย์ จึงเปลี่ยนนามสกุลว่า นายเทพ   สุนทรศารทูล 
     คุณอาถวิล สุนทรศารทูล  เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยอยู่นานที่สุด แสงรังสีรัศมีของท่านได้ปกแผ่มาปกป้อง  ให้เจ้าเมือง นายอำเภอ นายตำรวจ อัยการเกรงใจตลอดมา เมื่อรู้ว่า นายเทพ สุนทรศารทูล เป็นหลานชายของปลัดกระทรวงมหาดไทย ต่อมาคุณพี่ดำรง สุนทรศารทูล  ก็เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยอีกคนหนึ่ง รัศมีของท่านก็ปกแผ่ไปคุ้มครองตลอดมา 
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

(ชีวประวัติ) ทรายเม็ดหนึ่ง ตอน..... วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๘


วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๘

     ก่อนออกเดินทางไปรับตำแหน่งศึกษาธิการอำเภอ ได้ไปหาพระครูปฐมเจติยาภิบาล (ป่วน)  ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์  ซึ่งเป็นโหราจารย์ให้ดูฤกษ์ยามให้  ท่านกำหนดให้เดินทางวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๘  ได้ไปลาท่านขุนเชาวน์ปรีชาศึกษากรที่บ้าน  ท่านมอบพระสิบทัศวัดดอนยายหอมให้เป็นที่ระลึก ๑ องค์  ไปกราบลาพระร่วงโรจนฤทธิ์ที่เคยถวายตัวเป็นลูกไว้  แล้วออกเดินทางจากหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ โดยรถยนต์ไปลงเรือยนต์ที่จังหวัดราชบุรี  ล่องเรือไปตามลำน้ำแม่กลองที่ไม่เคยไปเลย   จึงได้ชมทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำแม่กลองด้วยความเพลิดเพลิน  ตื่นตาตื่นใจ   เรือยนต์ถึงแม่กลองเวลาค่ำ  เขาจัดเลี้ยงต้อนรับที่หน้าที่ว่าการอำเภอเมืองสมุทรสงคราม  โดยนายเฟื้อ สายสกุล  ผู้ช่วยศึกษาธิการอำเภอได้จัดการต้อนรับคณะผู้ติดตามไปส่งประมาณ  ๑๐๐ คน  แล้วจัดให้พักโรงแรมและเรือนรับรองของสโมสรวัฒนธรรมฝ่ายหญิงในโรงพยาบาลสมุทรสงคราม   นายสมเกียรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร ได้ติดตามไปส่งได้ไปนอนสั่งสอนอยู่ครึ่งคืนด้วยความเมตตา  ต่อมาท่านได้เป็นศึกษาธิการภาคราชบุรี  จึงได้ไปเยี่ยมเยียนท่านบ่อยๆ  
     อำเภอเมืองสมุทรสงครามมีนายอำเภอชื่อ  คุณชัชวาลย์  ชมปรีชา เป็นชาวสุพรรณบุรี  ท่านมีความเมตตาข้าพเจ้าเป็นพิเศษ  คือไปตรวจราชการตำบลไหนก็เอาไปด้วยทุกแห่ง  ท่านไปพร้อมคุณนายของท่านลงเรือจ้างไปตามตำบลต่างๆ  ท่านชอบออกเยี่ยมเยียนราษฎร  สมัยน้ัน นายแสวง เรืองจำเนียร เป็นศึกษาธิการจังหวัด  มีคุณนายชื่อ คุณนายละมุน  เป็นชาวลำปาง  ท่านมีลูกสาวสวยคนหนึ่ง ชื่อ พิเศษศรี  คุณนายมีท่าทีเอ็นดูนายเทพ  พูดว่าถ้าได้เป็นลูกเขยก็ดี  มาขอลูกสาวก็จะให้  แต่ น.ส.พิเศษศรี เรืองจำเนียร ป.ม. มีคู่รักเสียแล้ว 
     ผู้ว่าราชการจังหวัดชื่อ นายเจริญ ภมรบุตร คุณนายชื่อ สงัด ภมรบุตร  เดิมท่านสายสกุล ณ บางช้าง  ต่อมาคนในสกุลภมรบุตร  ขอไปเป็นบุตรบุญธรรม จึงไปใช้นามสกุล ภมรบุตร  ซึ่งเป็นคนในตระกูลราชินีกุลบางช้างด้วยกัน  ปลัดจังหวัดชื่อ คุณกระจ่าง บุญยเกตุ เป็นน้องชาย นายทวี บุญยเกตุ,   ผู้ช่วยศึกษาธิการจังหวัดชื่อ นายปัญญา อินทรโอสถ  ศึกษาธิการอำเภอเมือง, ศึกษาธิการอำเภอเมืองชื่อ นายอำนาจ บรรเทาทุกข์, ศึกษาธิการอำเภออัมพวาชื่อ นายเปล่ง คงอยู่,  ศึกษาธิการอำเภอบางคณฑีชื่ออ นายพูล เงินดี  
     ในวันที่เดินทางไปอยู่เมืองสมุทรสงคราม มีข้าราชการพิเศษไปส่ง ๓ ท่านคือ 
     ๑. นายสมเกียรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร ผช.ศธ. ภาค
     ๒. นายทิพย์ ฟักเจียม ศึกษาธิการจังหวัด
     ๓. นายสง่า ไทยานนท์  มหาดไทยภาค 
     ในสมัยนั้นชั้นเอกหายาก  มีไม่กี่คนจึงได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า   ชีวิตนี้ขอให้ได้เป็นข้าราชการชั้นเอกบ้าง แล้วก็ได้เป็นชั้นเอกในเวลาต่อมาอีก  ๑๖ ปี   
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2558

(ชีวประวัติ) ทรายเม็ดหนึ่ง ตอน....เป็นศึกษาธิกาอำเภอหนุ่มโสด


เป็นศึกษาธิการอำเภอหนุ่มโสด

     วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๘  นายเอื้อ วิชัยดิษฐ์  ได้เสนอแต่งตั้งให้นายเทพ ศรีธนทิพย์ ข้าราชการชั้นจัตวาเงินเดือน ๖๕๐ บาท  เป็นศึกษาธิการอำเภอเมืองสมุทรสงคราม  จึงได้มีชีวิตก้าวหน้าในทางราชการอีกขั้นหนึ่ง  สมัยนั้นศึกษาธิการอำเภอยังเป็นข้าราชการชั้นจัตวากับชั้นตรีโดยมาก  นายทิพย์ ฟักเจียม ศึกษาธิการจังหวัดนครปฐมที่แต่งตั้งจากจังหวัดตากมาแทนขุนเชาวน์ปรีชาศึกษากร  ที่ลาออกไป  ท่านมีความเมตตานายเทพ ศรีธนทิพย์มากเป็นพิเศษ  ไปตรวจราชการที่ไหนก็เอาไปด้วย  ไปตรวจที่อำเภอบางเลน อำเภอนครไชยศรี อำเภอสามพรานก็เอาไปด้วย  สมัยนั้้นนายล้วน เคลือบสุวรรณ เป็นศึกษาธิการอำเภอบางเลน, ร.ท.วุธ ชินเครือ เป็นศึกษาธิการอำเภอนครไชยศรี, นายเติม วรรณดิลก เป็นศึกษาธิการอำเภอสามพราน  นายฟื้น มุสิกุล เป็นศึกษาธิการอำเภอเมืองนครปฐม,  
     นายทิพย์ ฟักเจียม ศึกษาธิการจังหวัดได้กรุณาจัดงานเลี้ยงส่งให้ที่โรงเรียนราชินีบูรณะ  สมัยนั้น นางสาวสาคร เทวาหุดี เป็นอาจารย์ใหญ่จัดงานเลี้ยงส่งให้  ในงานมีนายส่ง เหล่าสุนทร  ปลัดจังหวัดเป็นประธาน  สมัยนั้นมีขุนคำนวณวิจิตร (เชย บุนนาค)  เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด   พ.ต,อ. พระราชญาติรักษา (ประกอบ บุนนาค)  เป็นผู้ว่าราชการภาค   นายสง่า ไทยอานนท์  เป็นมหาดไทยภาค  นายขาว โกมลพิศร  เป็นศึกษาธิการภาค  นายสมเกียรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร เป็นผู้ช่วยศึกษาธิการภาค  
     ก่อนหน้านี้  ทางสำนักงานศึกษาธิการเขต โดยท่านสมเกียรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร ได้เรียกตัวนายเทพไปช่วยราชการที่สำนักงานศึกษาธิการภาค ก็น่าแปลกดีที่ได้ทำงานอยู่สำนักงานเขต สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด   และสำนักงานศึกษาธิการภาคตามลำดับ  

(ชีวประวัติ) ทรายเม็ดหนึ่ง ตอน .......เป็นทหารเกณฑ์แก่





เป็นทหารเกณฑ์แก่

     วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๗  ต้องถูกเรียกเข้าประจำการเป็นพลทหารเกณฑ์ตามกำหนด  วันนั้น ร.ท. จรูญ ชาวนาวิก สัสดีจังหวัดนครปฐม  ได้มาพบบอกว่าจะฝากเข้าเป็นทหารหน่วยเสนารักษ์  จะได้ไม่ต้องฝึกภาคสนาม และฝึกอาวุธหนักเกินไป  ไม่ได้ไปหาท่านดอก ท่านเกิดความเมตตาเอง ที่จริงก่อนถูกเกณฑ์ นายบุญรอด เพื่อนกันได้มาติดต่อว่าจะช่วยไม่ให้ต้องถูกเกณฑ์โดยจะต้องเสียเงินให้สัสดี ๖,๐๐๐ บาท  ข้าพเจ้าสู้ไม่ได้เพราะเงิน ๖,๐๐๐ บาท ต้องใช้เงินเดือนถึง ๑๐ เดือนเต็ม  ได้รับเงินเดือนอยู่ ๖๐๐ บาท  ต้องเก็บเงินเดือน ๑๐ เดือน มันมากเกินไปและไม่มีเงิน ๖,๐๐๐ บาทด้วย  จึงต้องยอมถูกเกณฑ์เข้าประจำการเพียง  ๑๒ เดือน  เป็นยุวชนทหารชั้น ๒ ได้รับผ่อนผัน ๑ ปี  จึงถูกส่งเข้าประจำการที่กองเสนารักษ์  โรงพยาบาลอานันทมหิดล ที่จังหวัดลพบุรี ฝึกภาคสนามอยู่ ๓ เดือน  แล้วส่งมาประจำการที่กองเสนารักษ์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าอีก  ๙ เดือน  ต้องกินข้าวแดงแกงกะทะอยู่  ๑๒ เดือน  ได้เบี้ยเลี้ยงเดือนละ ๖๖ บาท  ปลดประจำการเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๘  ปีนั้น นายฉิ่ง แจ้งใจ  ผู้ช่วยศึกษาธิการจังหวัดได้เสนอเลื่อนเงินเดือนให้ ๒ ขั้น  เป็น  ๖๕๐ บาท  นี่ก็ผู้ใหญ่เมตตาเอ็นดู  ไม่ใช่ได้เงินเดือน  ๒ ขั้น เพราะมีความดีความชอบอะไรดอกอย่าสงสัยเลย 

วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

(ชีวประวัติ) ทรายเม็ดหนึ่ง ตอน ......เป็นเสมียนสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด


เป็นเสมียนสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด 

     นับตั้งแต่  วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๕  จึงมีตำแหน่งเป็นเสมียนทำงานอยู่ที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครปฐม  ต้องขี่จักรยานจากบ้านตาก้อง  เข้าไปทำงานในเมืองทุกวันระยะทาง  ๘ ก.ม.
     ในที่สุดจึงได้ซื้อห้องแถวอยู่ที่ถนนทหารบก  ที่นายเพ่งเล้ง แก้วพิจิตร สร้างเซ้งในราคา  ๓,๐๐๐ บาท  แล้วก็อพยพครอบครัวมีพ่อแม่ พี่สาว น้องสาว เข้าไปอยู่ในเมือง  ต่อมาแม่ก็ขายบ้านขายที่ดิน ๗ ไร่  ให้แก่หลาน  ชื่อ นายกิ่ง  ใจดีในราคา ๑๐,๐๐๐ บาท สมัยนั้น 
     แต่การที่โอนมาเป็นเสมียน  ทำให้พ้นจากหน้าที่ครู  ซึ่งได้รับการผ่อนผันไม่ต้องถูกเกณฑ์เป็นทหาร  ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๘๙ จนถึง พ.ศ. ๒๔๙๕ เป็นเวลา  ๖ ปี
     วันหนึ่งก็ได้รับหมายศาลจังหวัดว่า  บัดนี้ ร.ต.เทพ ทัศนาพลพินิจ สัสดีอำเภอเมืองนครปฐม  ได้ยื่นฟ้องศาลว่า ออกจากครูแล้วไม่คืนใบผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร  มีความผิดในคดีอาญาต้องไปศาล  โดยที่สัสดีไม่ได้บอกให้รู้เลยว่าต้องคืนใบผ่อนผันเกณฑ์ทหาร  เพื่อนชื่อนายพยุง ชุ่มบุญชู จึงต้องยื่นประกันตัวระหว่างต้องคดีอาญา
     ในทีสุดศาลก็มีคำสั่งเรียกตัวไปฟังคำพิพากษา  ท่านหัวหน้าศาล จำชื่อท่านไม่ได้  ได้ออกนั่งบัลลังก์เอง  ต้องไปยืนฟังคำพิพากษาเป็นครั้งแรกในชีวิต  พ่อก็ไปเป็นเพื่่อนด้วย หัวหน้าศาลได้พิพากษาโทษว่า 
     มีความผิดฐานหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร  ท่านถามว่ามีคำแก้ตัวว่าอย่างไร
     ตอบท่านว่า ไม่ทราบว่าไม่คืนใบผ่อนผันเกณฑ์ทหารจะมีความผิดในคดีอาญา  ได้รับผ่อนผันมานานถึง ๖ ปีแล้ว  จนลืมว่ากำลังได้รับการผ่อนผันไม่ต้องเกณฑ์ทหาร จึงไม่ได้คืนใบผ่อนผัน  ไม่มีเจตนาจะหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร  หัวหน้าศาลนั่งอยู่สักครูหนึ่ง  เขียนคำพิพากษาแล้วอ่านว่า
     "จำเลยมีความผิดคดีอาญา  ให้พิพากษาโทษปรับเป็นเงิน  ๕๐ บาท  ฐานหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร  โดยไม่มีเจตนา  จึงสมควรได้รับความกรุณาให้ลงโทษแต่เพียงสถานเบา"
     พ่อลุกขึ้นควักเงิน ๕๐ บาท ส่งให้จ่าศาลทันที
     นายเทพ โค้งคำนับหัวหน้าศาลโดยความนอบน้อมขอบพระคุณที่ศาลกรุณา  ตัดสินเพียงให้ปรับ  ถ้าหากลงโทษจำคุกเพียง ๑ เดือน ก็จะต้องออกจากราชการ  จึงต้องบันทึกไว้ว่า  เคยต้องคำพิพากษาศาลให้ปรับ ๕๐ บาท เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕   ชีวิตน้อยๆ นี้ผ่านมาทุกรสชาติ  แต่มีผู้ช่วยไว้ได้ในนาทีสุดท้าย เหมือนมีเทพเจ้าได้คอยอภิบาลคุ้มครองอยู่ตลอดมา   ข้าพเจ้าจึงเชื่อมันว่ามีเทวดารักษา  มีเทพเจ้าคุ้มครอง  ข้าพเจ้าเชื่อเรื่องเทวดาอย่างบริสุทธิ์ใจ  
(โปรดติดตามต่อไป)

วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

(ชีวประวัติ) ทรายเม็ดหนึ่ง ตอน.... เป็นผู้ตรวจการประุถมศีกษา


เป็นผู้ตรวจการประถมศึกษา

     
      วันหนึ่ง  นายสำเริง สุนันทกุล ศึกษาธิกาอำเภอกำแพงแสน ได้เรียกไปพบว่าจะแต่งต้ังให้เป็นครูใหญ่โรงเรียนนาถอำนวยวิทย์ โรงเรียนประชาบาล ตำบลห้วยพระ  ซึ่งนายนาถ  มนต์เสวี นายอำเภอจัดต้ังขึ้น   ข้าพเจ้าจึงได้เป็นครูใหญ่โรงเรียนประชาบาลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ อายุ ๒๑ ปี  มีครูร่วมโรงเรียน ๓ คน สอนต้ังแต่ ป.๑ ถึง ม. ๔ มีนักเรียนรวม ๗๒ คน  
     เป็นครูใหญ่โรงเรียนนาถอำนวยวิทย์อยู่ ๒ ปีเต็ม   นายพิน กันตะเพ็ง ศึกษาธิกาอำเภอจึงแต่งต้ังให้เป็นผู้ตรวจการประถมศึกษาอำเภอ
     ในสมัยน้ันพลเอก มังกร พรหมโยธี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกระเบียบให้มีตำแหน่งผู้ตรวจการประถมศึกษาอำเภอขึ้นอีกตำแหน่งหนึ่ง  มีหน้าที่ออกตรวจโรงเรียนประชาบาล ช่วยศึกษาธิการอำเภอ  มีแบบตรวจเป็นเอกสารลับรายงานรต่อศึกษาธิการอำเภอ  ให้มีตำแหน่งนี้อำเภอละ ๔ คน  ผู้เป็นตำแหน่งนี้ต้องมีคุณวุฒิประกาศนียบัตรประโยคครูประถม (ป.ป.)  
     นายเทพ ศรีธนทิพย์ ได้ศึกษาวิชาชุดครู สอบเลือนวิทยฐานะมาโดยตลอดจนสอบได้วุฒิครู ป.ป. ในพ.ศ. ๒๔๙๒  จึงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการประถมศึกษาอำเภอ  มีหน้าที่ออกตรวจโรงเรียนประชาบาลทั้่วไปในท้องที่  โดยไม่มีค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ  แต่เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ มีหน้าตา มีอำนาจ ครูประชาบาลเกรงใจ ข้อสำคัญได้ออกท้องที่ทั่วทั้งอำเภอ  ซึ่งมีตำบลอยู่ ๑๓ ตำบล  มีโรงเรียนถึง ๖๙ โรงเรียน จึงได้รู้จักครูทุกโรงเรียน  ซึ่งมีจำนวน ๑๒๒ คน 
    นายเทพ ศรีธนทิพย์ มีดวงชะตาที่มีผู้ใหญ่เมตตารักใคร่ มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว  นับต้ังแต่ ครูเกี่ยเม้ง แซ่ลิ้ม ต้ังให้เป็นหัวหน้านักเรียน วัดตาก้อง,  ครูสมพงศ์ ภาณุพินทุ ส่งเข้าเรียนมัธยม,  ครูประยูร วีระวงศ์ คอยติดตามสั่งสอน,  ครูรัศมี เลดิกุล ศึกษาธิการอำเภอ รับเป็นครูโดยไม่ต้องสอบคัดเลือก,  นายสำเริง สุนันทกุล ศึกษาธิการอำเภอ แต่งต้ังให้เป็นครูใหญ่,  นายพิน กันตะเพ็ง ศึกษาธิการอำเภอ แต่งต้ังให้เป็นผู้ตรวจการประถมศึกษาอำเภอ  จะไปไหนก็เอาไปด้วยทุกหนทุกแห่ง 

(ชีวประวัติ) ทรายเม็ดหนึ่ง ตอน.... บวชเณรแก้บนให้พ่อ


บวชเณรแก้บนให้พ่อ

     เรียนจบโรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรจังหวัดนครปฐม  ได้รับประกาศนียบัตรครูจังหวัด (ว.) เมื่อพ.ศ.๒๔๘๘  จึงกลับบ้าน พบพ่อป่วยมาก  จึงได้บนบานบอกเล่าเทวดาว่า  ถ้าพ่อหายป่วยจะบวชเณรอุทิศกุศลให้ ๑ เดือน  เมื่อพ่อหายป่วย  พี่ละเอียดรู้จักกับอาจารย์อ้น เจ้าอาวาสวัดเลาเต่า  ซึ่งเป็นน้องชายพระครูพรหมวิสุทธิ  เจ้าอาวาสวัดทุ่งผักกูด  เจ้าคณะอำเภอกำแพงแสน จึงได้ไปบวชเณรที่วัดทุ่งผักกูด  แล้วไปอยู่วัดเลาเต่า ๑ เดือน  เป็นการบวชเณรคร้ังที่ ๒  ครั้งแรกบวชแก้บนให้แม่ป่วยที่วัดตาก้อง ๑๕ วัน   คร้ังนี้บวชที่วัดเลาเต่า ๑ เดือน 
      แก้บนให้พ่อครบ ๑ เดือนแล้วลาสึก   ไปรายงานตัวรับราชการใช้ทุกการศึกษา ๔ ปี ที่อำเภอกำแพงแสน ท่านจึงแต่งต้ังให้เป็นครูประชาบาลครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๘  เงินเดือน ๒๔ บาท  ประจำอยู่ที่โรงเรียนประชาบาลตำบลห้วยพระ ๕ (วัดทุ่งพิชัย) ซึ่งเป็นวัดตั้งใหม่  รื้อย้ายมาจากวัดเลาเต่า  ได้ไปช่วยขนเครื่องไม้มาปลูกสร้างวัดทุ่งพิชัยด้วย  นับว่าได้บำเพ็ญกุศลสร้างวัดใหม่กับพระครูพรหมวิสุทธิ  แล้วก็ได้เป็นครูโรงเรียนวัดทุ่งพิชัยต่อมา 
     โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนชั่วคราว  ปลูกอยู่กับพื้นดิน หลังคามุงแฝก ไม่มีฝากั้น เปิดโล่งทั้ง ๔ ด้าน  ม้านั่งเรียนทำเป็นม้านั่งปลูกกับพื้นดิน เหมือนโรงเรียนแจงงามที่เคยอยู่คราวก่อนได้เงินเดือน ๑๔ บาท   คราวนี้ได้เงินเดือนตามวุฒิครู ว.  อัตราเงินเดือน ๒๔ บาท  แต่ไม่มีอัตราเงินเดือน ๒๔ บาทบรรจุ  จึงต้องรับเงินเดือน ๒๐ บาท เท่าอัตราวุฒิ ม. ๖ ต่อมาอีกปีหนึ่ง  จีงได้เลื่อนเงินเดือนตามคุุณวุฒิ ครู ว.(จังหวัด) ได้เงินเดือน ๒๔ บาท เป็นครูเมื่อวันที่๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๘ อายุ ๑๙ ปี  สอนชั้น ม. ๔  ต่อมาพระครูพรหมวิสุทธิได้สร้างวัดขึ้น  จึงมีวัดทุ่งพิชัย 

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558

พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม (เสือ สุนทรศารทูล)



พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม

     พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม (เสือ สุนทรศารทูล)  เป็นคนเกิดในวงศ์ราชินีกูลบางช้าง บุตรของพระราชานุวงศ์ (เลี้ยง ณ บางช้าง)  เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหอพระราชมณเฑียร  ได้เป็นจมื่นศรีสรรเพชญ์  แล้วได้เป็นพระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม ผู้สำเร็จราชการเมืองนครไชยศรี   ท่านได้สร้างวัดถวายเป็นพระราชกุศลที่ตำบลบางแก้ว  ริมแม่น้ำนครไชยศรี  ทางทิศตะวันตก ทับหน้าวัดเข้าแม่น้ำนครไชยศรี  แล้วถวายพระราชกุศลตามธรรมเนียมในสมัยน้ัน  พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระราชทานนามวัดว่า  วัดสุประดิษฐาราม วัดนี้ใช้เป็นวัดทำพิธีดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา  ในสมัยรัชกาลที่ ๓, รัชกาลที่ ๔, รัชกาลที่ ๕  แต่ทายาทในวงศ์สกุลของพระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม (เสือ สุนทรศารทูล)  ก็แตกแยกกันไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง  เพียง ๓ ชั่วคน ก็ไม่มีใครไปทำบุญที่วัดสุประดิษฐาราม ทึ่ต้นตระกูลสร้างไว้  
(โปรดติตตามตอนต่อไป)

วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2558

(ชีวประวัติ) ทรายเม็ดหนึ่ง ...ตอน นามสกุล สุนทรศารทูล






นามสกุลพระราชทาน

      เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๖  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้ออกพระราชบัญญัติขนานนามสกุลขึ้นบังคับให้คนไทยทุกคนมีนามสกุลใช้  บัญญัติให้นายอำเภอรับจดทะเบียนชื่อนามสกุลคนไทยทุกคนตามสมัครใจ  จะใช้นามสกุลวา่อะไรตามใจชอบอย่างหนึ่ง  ให้นายอำเภอตั้งชื่อนามสกุลให้คนไทยที่ไปขอจดทะเบียนนามสกุล ถ้าหากว่าราษฎรไทยไม่รู้ว่าจะตั้งนามสกุลว่าอะไรอย่างหนึ่ง  ทรงพระราชทานชื่อนามสกุลให้แก่พ่อค้า ข้าราชการ เสือป่า ลูกเสือ ที่ขอนามสกุลก็ทรงพระราชทานนามสกุลให้อย่างหนึ่ง  
     ในสมัยนั้นคนในวงศ์สกุลของพระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงครามที่มีอยู่คือ 
     ๑. พระภักดีศรีสุพรรณภูมิ (สุด)  บุตรหลวงสากลพิทักษ์ (หมี)  บุตรพระยาสุพรรณบุรี (เสือ)  เป็นปลัดจังหวัดสุพรรณบุรี  จึงขอพระราชทานนามสกุล พระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนามสกุลว่า  "สุนทรศารทูล"  โดยเอานามบรรดาศักดิ์ สุนทรบุรี  ผสมกับชื่อเดิมว่า  เสือ  แผลงเป็นภาษาสันสกฤตว่า  ศารทูล 
     ๒. นายวงษ์ บุตรหลวงโภชสารี (หรุ่น)  บุตรพระยาสุนทรบุรี (สว่าง)  ขอต้ังนามสกุลว่า "ศรีธนทิพย์"  นายเวกน้องชายนายวงศ์  จึงใช้นามสกุลตามพี่ชายว่า ศรีธนทิพย์
     ๓.  พระประชากรบริรักษ์  (แอร่ม)  เจ้าเมืองสิงห์บุรี  บุตรชายนายเอื่ยม หลานพระยาวิชิตไชยศรีประชากร (สว่าง)  จึงใช้นามสกุลพระราชทานตามพระภักดีศรีสุพรรณภฺูมิ  ปลัดจังหวัดสุพรรณบุรีว่า สุนทรศารทูล 
     ๔. บุตรหลานหลวงโภชสารี (หรุ่น)  สายอื่นจึงใช้นามสกุลพระราชทานว่า สุนทรศารทูล  หมดทุกสายรวมทั้งสายวงศ์ญาติสายอื่นๆ  ก็ใช้นามสกุล สุนทรศารทูล นับแต่พ.ศ. ๒๔๕๖ เป็นต้นมา

     สกุลวงศ์ จึงแยกออกเป็น ๒ สาย  คือ
     ๑. สุนทรศารทูล  นามสกุลพระราชทาน
     ๒. ศรีธนทิพย์  นามสกุลตั้งเอง 
     คนที่ใช้สกุล  ศรีธนทิพย์  จึงมีสายนายวงษ์ และนายเวก บุตรหลวงโภชสารี (หรุ่น)  สกุล ศรีธนทิพย์ จึงสืบสายมาเพียงรายเดียว  คือ นายวงษ์ ไม่มีบุตรชายสืบสกุล 
     นายเวก  มีบุตรชายสืบสกุล คือ 
    ๑. นายโอ้ ศรีธนทิพย์
    ๒. นายแว่ว ศรีธนทิพย์ ไม่มีบุตรสืบสกุล 
     นายโอ้ มีบุตรชายคนเดียว  คือ นายเทพ ศรีธนทิพย์ เป็นผู้สืบสายสกุล 
     วันหนึ่ง เมื่อนายเทพ ศรีธนทิพย์ ได้รับแต่งต้ังเป็นศึกษาธิการอำเภอเมืองสมุทรสงคราม พ่อจึงบอกว่า ให้ไปขออนุญาตใช้นามสกุล สุนทรศารทูล  ร่วมกับ  พระภักดีศรีสุพรรณภูมิ (สุด)  ผู้ขอพระราชทานนามสกุล สุนทรศารทูล จะได้มีวงศ์ญาติร่วมสกุลกว้างขวางออกไป  พ่อสอนว่า 
     วงศ์ญาติของเรา เป็นข้าราชการกัน มีชื่อเสียงอยู่ในเวลาน้ันหลายคน เช่น นายถวิล สุนทรศารทุล  ลูกชายพระภักดีศรีสุพรรณภูมิ  เป็นอธิบดีกรมที่ดิน หลวงอรรถประกาศกิดากร (ประเสริฐ สุนทรศารทูล )  เป็นอัยการภาค ๑   พระประชากรบริรักษ์ (แอร่ม สุนทรศารทูล)  เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม       นามสกุล สุนทรศารทูล มีคนรู้จักกว้างขวาง เป็นข้าราชการไปใช้นามสกุล สุนทรศารทูล จะได้มีญาติรู้จัก    

        
(โปรดติดตามต่อไป)

วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2558

(ชีวประวัติ) ทรายเม็ดหนึ่ง ....ตอน เคราะห์กรรมของวงศ์ตระกูล


เคราะห์กรรมของวงศ์ตระกูล

     พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม (เสือ สุนทรศารทูล) มีภรรยาหลายคนตามธรรมเนียมขุนนางใหญ่สมัยนั้น   แต่ภรรยาที่มีบุตรสืบสกุลมีอยู่  ๕ คน คือ 
     ๑. คุณหญิงนาค มีบุตรเป็นพระยาสุนทรบุรี(สว่าง)   แล้วเป็นพระยาวิชิตไชยศรีประชากร  เรียกว่า สายเจ้าเมือง 
     ๒. คุณเสน มีบุตรเป็น หลวงโภชสารี (หรุ่น)  ผู้ช่วยผู้สำเร็จราชการเมือง  เรียกว่า สายผู้ช่วย
     ๓.คุณแสง  มีบุตรชื่อ  หลวงสากลพิทักษ์ (หมี)  ยกกระบัตรเมืองนครไชยศรี เรียกว่า  สายยกกระบัตร
     ๔.คุณอ่อม มีบุตรชื่อ นายจึ่
     ๕.คุณชั้น มีบุตรชื่อ  ขุนอภัยภาดาเขตต์  (ชุบ) นายอำเภอสองพี่น้อง สุพรรณบุรี 

     พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม (สว่าง)  ได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองนครไชยศรี  ซึ่งสมัยน้ันเรียกว่า "ผู้สำเร็จราชการเมือง"   มีอำนาจมาก สั่งตัดสินความได้  สั่งขัง สั่งเฆี่ยน สั่งปรับไหมคนในปกครองได้  ยกเว้นโทษประหารอย่างเดียว ต้องขอพระบรมราชโองการ  จึงทำให้มีอำนาจมาก บ่าวไพร่จึงผูกโกรธเจ็บแค้น  จึงได้ใส่ความโดยเอาหม้อดินมาปั้นตุ๊กตากอดกัน  แล้วใส่หม้อดินไปฝังไว้ใต้ถุนตำหนัก  ที่ตำบลท่านา ริมแม่น้ำนครไชยศรีแล้วทำเรื่องยื่นฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯ  ฟ้องร้องว่า พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม  (สว่าง สุนทรศารทูล)  กับคุณหญิงตลับ  บุตรีพระยาพระยาศรีสยาเทพ (พึ่ง ศรีเพ็ญ) ฝังรูปฝังรอย ทำเสน่ห์พระเจ้าแผ่นดิน  ได้ร่วมกันทำทุจริตฝังรูปฝังรอยพระเจ้าแผ่นดิน  บอกไปเสร็จว่าฝังรูปฝังรอยไว้ใต้ถุนตำหนัก  ทางกระทรวงวังจึงส่งพวกตำรวจไปตรวจ  พบหม้อดินฝังรูปฝังรอยอยู่จริง   จึงได้จับเอาพระยาสุนทรบุรี ฯ (สว่าง สุนทรศารทูล) กับคุณหญิงศรีเพ็ญ มาขังไว้ในพระบรมมหาราชวัง   ถอดจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการเมือง เมื่อพ.ศ.๒๔๒๕  ตั้งคนอื่นไปเป็นผู้ว่าราชการเมืองแทน
     
     สมัยน้ัน พระยาสุนทรบุรี ฯ (สว่าง) มีบุตรคนหนึ่งได้นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเป็นเจ้าจอม ชือว่า เจ้าจอมเรือน  มีธิดากับพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า  พระองค์เจ้าหญิงพิศมัยพิมลสัตย์
     ภายหลังเจ้าจอมมารดาเรือนได้พาพระองค์เจ้าหญิงพิศมัยพิมลสัตย์เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ  ทรงอุ้มพระราชธิดาขึ้นนั่งบนพระเพลา ตรัสถามว่า  "สบายดีหรือลูก"  พระองค์เจ้าหญิงทูลว่า "ลูกสบายดี แต่คิดถึงคุณตาคุณยาย"
     พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงมีพระบรมราชโองการสั่งปล่อยพระยาสุนทรบุรีฯ (สว่าง สุนทรศารทูล) และคุณหญิงตลับ  ศรีเพ็ญ ออกจากที่คุมขัง แต่งต้ังให้เป็น  พระยาวิชิตไชยศรีประชากร  จางวางผู้กำกับเมืองนครไชยศรี ก็เท่ากับตำแหน่งที่ปรึกษา ผู้ว่าราชการเมือง 
     ตระกูล สุนทรศารทูล  จึงพากันตกต่ำหมดทั้งตระกูลไม่ได้เลื่อนเป็นเจ้าคุณ คุณพระ พระยากันเลย 
     ต่อมา คุณหญิงเวก สุนทรศารทูล ธิดา พระยาวิชิตไชยศรีประชากร (สว่าง สุนทรศารทูล)   ได้สมรสกับพระยาศรีวงวงศ์  (ม.ร.ว. จิตร สุทัศน์)  มีบุตรชื่อ พระศรีสุทัศน์  (ม.ล.อนุจิตร สุทัศน์)  ได้เป็นเจ้าเมืองนครปฐมสืบสกุลต่อมา  แต่ก็เป็นสายเขย  ไม่ได้สืบสกุลสุนทรศารทูลลงมาโดยตรง 
    ต่อมาคุณเอื่ยม สุนทรศารทูล  บุตรพระยาวิชิตไชยศรีประชากร  เป็นมหาดเล็ก  ก็ไม่ได้เลื่อนยศเหมือนกัน มีบุตรชื่อพระประชากรบริรักษ์ (แอร่ม สุนทรศารทูล) ได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมในชั้นหลาน  นายดำรง สุนทรศารทูล  บุตรพระประชากรบริรักษ์ (แอร่ม สุนทรศารทูล) ได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมในชั้นเหลน ต่อมาได้เป็นอธิบดีกรมการปกครองและปลัดกระทรวงมหาดไทย   ถ้าจะเขียนผังการสืบสกุลวงศ์ก็จะได้ดังนี้ คือ
     ๑.พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม (เสือ) ผู้สำเร็จราชการเมืองนครไชยศรี
     ๒. พระยาวิชิตไชยศรีประชากร (สว่าง) จางวางเมืองนครไชยศรี
     ๓. คุณเอื่ยม สุนทรศารทูล มหาดเล็ก
     ๔. พระประชากรบริรักษ์ (แอร่ม สุนทรศารทูล)
     ๕. นายดำรง สุนทรศารทูล  ปลัดกระทรวงมหาดไทย
     สายนี้ขึ้นสูงสุดในชั้นที่ ๕  ที่เรียกว่า สายเจ้าเมือง 


สายยกกระบัตร
     สายที่สอง เรียกว่า  สายยกกระบัตร  มีลำดับวงศ์ลงมาดังนี้ 
     ๑. พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม (เสือ สุนทรศารทูล)
     ๒. หลวงสากลพิทักษ์ (หมี สุนทรศารทูล) ยกกระบัตรเมืองนครไชยศรี
     ๓. พระภักดีศรีสุพรรณภูมิ (สุด สุนทรศารทูล)  ปลัดเมืองสุพรรณบุรี 
     ๔. นายถวิล สุนทรศารทูล  ปลัดกระทรวงมหาดไทย
     ๕. นายยนต์ สุนทรศารทูล  ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย 
     สายนี้ขึ้นสูงสุด ในชั้นที่ ๔ 
     


     (โปรดติดตามตอนต่อไป)
    

          

วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2558

(ชีวประวัติ) ทรายเม็ดหนึ่ง ...ตอน ครูประยูร วีรวงศ์ไปเยี่ยม


ครูประยูร วีรวงศ์ไปเยี่ยม

     ครูประยูร  วีรวงศ์ ครูสอนประจำชั้น ม.๒ ท่านมีความรักใคร่ห่วงใย เมตตาข้าพเจ้าเป็นพิเศษตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ม. ๒ 
     วันหนึ่ง  ข้าพเจ้าจะสมัครเข้าเรียนเป่าแตรวงของโรงเรียน ครูประยูร วีรวงศ์ รู้เข้าก็มาหา และห้ามว่า 
     " นายเทพ เธอตัวเล็ก รูปร่างผอม อย่าเรียนหัดเป่าแตรเลย  เดี๋ยวจะเป็นวัณโรค"
     ข้าพเจ้าเชื่อฟังครู จึงไม่ได้เรียนหัดเป่าแตรวง

     วันหนึ่ง ครูประยูร พูดว่า "นายเทพ เธอนึกว่าเธอวิ่งเร็วเป็นกระต่ายหรือ ระวังจะแพ้เต่านะ"
     ครูหมายความว่า  ข้าพเจ้าเรียนหนังสือเก่ง  สอบได้เป็นที่ ๑ ของห้อง  จึงตั้งสมญาเรียกข้าพเจ้าว่า  "นายกระต่าย"  ท่านเรียกคำนี้เสมอ ไม่เรียกชื่อ 
     วันหนึ่ง ครูชี้ให้ครูดอกรัก ภูศรีดูแล้วพูดว่า  "เด็กคนนี้เรียนหนังสือเก่งมาก"
     วันที่ไปขอลาออกจากโรงเรียน ท่านจึงพูดจาสั่งสอน 
     "เธออยากออกไปเป็นครูประชาบาลหรือ"
     "เธอออกไปแล้ว โตขึ้นเธอจะเสียใจ"
     "ถ้าเธอคิดได้แล้ว กลับมาเรียนใหม่นะ"
     คำพูดของครู ทำให้ข้าพเจ้าร้องไห้อยู่ในใจ  จึงก้มหน้าไม่มองหน้าครู   มันเศร้าโศกเสียใจอย่างพูดไมออกบอกไม่ถูก
     "ปีนี้เธอสอบได้คะแนน ๘๙ เปอร์เซนต์  ถ้าเรียนต่อจะได้รับยกเว้นค่าเล่าเรียน ไม่ต้องเสียเงินค่าเล่าเรียน"
     ข้าพเจ้าก้มหน้านิ่ง ร้องไห้อยู่ในใจ  น้ำตามันไหลอยู่ในท้อง เดินจากครูประยูร วีรวงศ์มาร้องไห้ตลอดทาง  สวนคนก็หยุดร้องไห้  พอลับตาก็ร้องไห้ครางฮีอๆ มาตลอดทาง  จนถึงบ้านระยะทาง ๘ กิโลเมตร  จึงได้หยุดร้องไห้ เมื่อเห็นหน้าพ่อแม่ พี่น้องมันก็หยุดได้เอง
     ไปเข้าเป็นครูประชาบาลเงินเดือน ๑๔ บาท อยู่ที่โรงเรียนบ้านแจงงาม  เป็นอยู่ไม่นาน วันหนึ่งครูประยูร วีรวงศ์ ก็เดินทางไปเยี่ยมถึงโรงเรียน ท่านขี่จักรยานจากตัวเมือง ไปเป็นระยะทาง ๒๐ กิโลเมตร  เพื่อเยี่ยมเยียนลูกศิษย์ที่ท่านรักใคร่ห่วงใยเป็นพิเศษ
     คำพูดของครูเพียง ๒-๓ ประโยคมันผันชีวิตของข้าพเจ้าได้ เพราะจำได้ฝังใจไม่ลืมเลย  เป็นครูประชาบาลได้ ๒ ปี  จึงได้ลาออกกลับไปเข้าเรียนใหม่ที่โรงเรียนฝึกหัดครูสนามจันทร์  เพราะจำคำครูได้ฝังใจ
     "ถ้าเธอคิดได้แล้วกลับมาเรียนใหม่อีกนะ"
     คำพูดประโยคนี้ของครูประยูร วีรวงศ์  จึงทำให้ข้าพเจ้าตัดสินใจลาออกจากครูประชาบาล  เข้าเรียนใหม่ อย่างไม่นึกอาลัยอาวรณ์อะไรเลย 
     แล้วขายจักรยาน ขายเสื้อกางเกงขายาว ขอเงินพ่อได้ ๕๐ บาท แล้วรวบรวมเงินได้ราว ๑๐๐ บาท  เดินทางไปเข้าเรียนโรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรจังหวัด ที่สนามจันทร์  เข้ารายงานตัวต่อครูแช สามไชย ครูใหญ่  เป็นนักเรียนใหม่เมื่ออายุ ๑๗ ปี   ที่โรงเรียนฝึกหัดครูสนามจันทร์  เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๖


  (โปรดติดตามต่อไป)

วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2558

(ชีวประวัติ) ทรายเม็ดหนึ่ง ....ตอน สอนชั้นป. ๑


สอนชั้น ป. ๑
     
     ชีวิตครูประชาบาล  คือชีวิตของลูกจ้างสอนหนังสือโรงเรียนประชาบาล จัดว่าเป็นคนชั้นต่ำที่สุดของข้าราชการ  ที่ท่านไม่เรียกว่า "ข้าราชการ"  ซึ่่งแปลว่า "ข้าทาสราชการ"  แต่ท่านเรียกว่า "ลูกจ้างประจำ"  ถึงจะมีความรู้สึกต่ำต้อยน้อยหน้าอยู่ในหัวใจ  แต่ก็ยังดีมีเงินเดือนเลี้ยงตัว 
     พ่อน้ันพอใจที่ลูกชายคนเดียวได้เป็นครูประชาบาล  ไม่ต้องทำนาลำบากลำบนและอดอยากยากจนเหมือนพ่อ  พ่อภาคภูมิใจที่ลูกชายเป็นครูประชาบาล พ้นความลำบากยากจนไปได้ระดับหนึ่ง  พ่อไม่หวังอะไรมาก เพราะชีวิตของพ่อคือชีวิตของนักโทษที่พ้นคุกตะรางออกมามีชีวิตอิสระเสรีภาพ  ถึงแม้ว่าจะต้องเป็นชาวนาทำนาตากแดดตากฝนเป็นชีวิตทึ่ยากจน แต่ก็เป็นชีวิตคนไทยที่มีอิสระเสรีภาพ  ไม่ต้องเป็นทางของใคร
     พ่อจึงมองดูชีวิตของลูกชายที่เป็นครูประชาบาลว่าเป็นชีวิตที่ดีกว่าพ่อ  พ่อมักพูดเสมอว่า  มีลูกชายที่เป็นอภิชาตบุตร บุตรที่ดีกว่าพ่อ  พ่อพอใจแล้ว ไม่ได้คิดไม่ได้หวังอะไรมากกว่านี้   เพราะพ่อรู้ดีว่าชีวิตของต้นตระกูลเป็นถึง พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม ผู้สำเร็จราชการเมืองนครไชยศรี  มีทุนทรัพย์มากถึงขนาดสร้างวัด  สุประดิษฐาราม ถวายเป็นพระราชกุศลไว้วัดหนึ่งที่นครไชยศรี  แต่บัดนี้ท่านก็ล่วงลับดับขันธ์ไปนานแล้ว  จนไม่มีใครรู้จักหน้าค่าชื่อ 


(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2558

(ชีวประวัติ) ทรายเม็ดหนึ่ง ...ตอน วันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔



วันที่ ๑๒  กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

     ปีพ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นปีเศร้าโศกในครอบครัวของข้าพเจ้าตลอดศก
     วันที่ ๒๐  เมษายน พ.ศ.๒๔๘๔  ต้องลาออกจากโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย  เมื่ออายุยังไม่ครบ ๑๕ ปี  ไปเป็นครูประชาบาลตำบลห้วยพระ ๔ (บ้านแจงงาม)  เงินเดือนๆละ ๑๔ บาท   ทั้งที่ปีน้ันสอบได้คะแนน ๘๙ %  ได้เรียนฟรี ก็เรียนต่อไปไม่ได้  เพราะพ่อไม่มีเงินค่าเล่าเรียนปีละ  ๒๑. ๕๐ บาท  ยังต้องออกมาทำงานหาเงินเดือนช่วยพ่อแม่  พี่น้อง จำได้ว่าเดินทางร้องไห้ฮือๆ มาตลอดทาง  พอมาถึงบ้านก็ต้องหยุดร้องไห้  เมื่อเห็นหน้าพ่อแม่พี่น้องว่าอยู่ในสถานที่อดอยากยากจนถึงที่สุด  ขนาดไม่มีข้าวสารหุงกิน  จึงต้องไปรับจ้างเป็นครูประชาบาล เอาเงินเดือน ๑๔ บาท มาซื้อข้าวสาร สมัยนั้นข้าวสารถังละ ๑ บาท  ยังจำได้ถึงสภาพของตัวเองในสมัยนั้น 
     วันหนึ่งข้าวสารหมด จึงต้องขี่จักรยานคู่ชีพเข้าเมือง  เมื่อตอนบ่าย  ๔ โมงเย็น   ถึงตลาดซื้อข้าวสาร ๑ ถัง ราคา ๑ บาท  ไว้ท้ายจักรยานขี่กลับบ้าน  แต่มันค่ำลง ระยะทางจากตลาดถึงบ้าน  ๘ กิโลเมตร ต้องผ่านป่าช้าวัดตาก้อง ซึ่งเป็นป่ามืดครึ้ม น่ากลัว  ใจนึกว่าผ่านป่าช้ายามค่ำคืน ผีมันจะรังควาญเอา  จึงได้แวะข้างทางที่ตำบลมาบแค  เข้านอนพักศาลาเดินทางข้างบ้านนายจรูญ ถิ่นมาบแค
     พอสัก ๓ ทุ่ม  พ่อพร้อมด้วยลุงฉาย  ปั้นอินทร์  นายเฉื่อย ปั้นอินทร์ ลูกชายลุงฉาย  จึงเดินทางมาถามหา  พบข้าพเจ้านอนอยู่บนศาลาริมทาง ก็พากันดีใจ นึกว่าจะถูกคนร้ายปล้นฆ่าตายเสียแล้ว ลุงฉาย ปั้นอินทร์ พูดว่า
     "เสียดาย  รูปร่างหน้าตาดีเสียด้วย"
     ลุงฉายนึกว่าข้าพเจ้ากลายเป็นศพนอนอยู่ตามทางเสียแล้ว
     พอถึงวันที่  ๑๒  กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔  คุณย่าฉัตร  ศรีธนทิพย์  ก็ถึงแก่กรรมลง  ญาติมาบอกข่าว แต่พ่อไม่มีเงินทำศพย่าเลย  จึงไปหานายเจริญ  ถิ่นมาบแค  เอาพระขุนแผนบ้านกร่าง ไปให้ ๑ องค์ ขอเงินเขา ๔๐ บาท  เอามาทำศพคุณย่า  สมัยน้ันข้าวเปลือกเกวียนละ  ๒๐  บาท  ทองคำราคาบาทละ  ๒๐  บาท เงิน ๔๐ บาท  จึงมีค่าประมาณ  ๔๐๐๐ บาท ของสมัยนี้ 
     คุณย่าฉัตรเกิดปี พ.ศ. ๒๔๑๒  ปีมะเส็ง  ถึงกาลดับขันธ์ วันที่ ๑๒  กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔  จึงมีอายุ ๗๒ ปี
     คุณย่าฉัตรมีพี่น้อง  ๔ คน 
     ๑. ย่าทับทิม
     ๒. ย่าผลัด
     ๓. ย่าแก้ว
     คุณย่าฉัตรสมรสกับคุณปู่เวก  ศรีธนทิพย์  คหบดีตำบลศรีมหาโพธิ์ มีบุตร  ๔ คนคือ 
     ๑. นายโอ้  ศรีธนทิพย์
     ๒. นางแม้น ศรีธนทิพย์
     ๓.นางเหรียญ แซ๋ลิ้ม
    ๔. นางส้มเช้า ศรีเพ็ง
     คุณย่าฉัตร ผิวขาว เพราะมีเชื้อสายจีน  แต่ปู่เวก ผิวดำ สูงใหญ่ สืบสกลุขุนนาง ต้นตระกูล เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองนครไชยศรี สืบสายสกุลลงมาคือ 
     ๑. พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม (เสือ)
     ๒. หลวงโภชสารี (หรุ่น)
     ๓. นายเวก  ศรีธนทิพย์
     ๔. นายโอ้ ศรีธนทิพย์
     พ่อโอ้ ผิวขาวเหมือนย่า รูปร่างหน้าตาคมคาย เสียงดัง  มีสง่าราศี ผิดกับชาวตำบลศรีมหาโพธิ  เป็นคนเฉลียวฉลาด สติปัญญาดี มีปฎิพภาณไหวพริบดี ใครเห็นก็เกรงขาม เป็นที่ยำเกรงของคนทั่วไปในตำบลตาก้อง 
    

วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

(ชีวประวัติ ) "ทรายเม็ดหนึ่ง" ตอน.... พ.ศ.๒๔๘๔ ปีโชคร้าย



พ.ศ.๒๔๘๔ ปีโชคร้าย

     ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นปีโชคร้ายของข้าพเจ้า ไม่ใช่เพียงแค่ข้าพเจ้าคนเดียว เป็นปีโชคร้ายของครอบครัวด้วย เป็นปีโชคร้ายของประเทศไทยด้วย เพราะวันที่ ๘  ธันวาคม  พ.ศ.๒๔๘๔ ญี่ปุ่นก็บุกยึดประเทศไทย เกิดสงครามฆ่าฟันกันไปทั่วโลก  เป็นปีเศรษฐกิจตกต่ำ ผู้คนพลเมืองยากจนกันทั่วหน้า ข้าวปลาอาหารแพง หยูกยา เสื้อผ้าแพง การเงินฝืดเคือง โจรผู้ร้ายชุกชุม ตำบลตาก้องฝนแล้ง  ทำนาไม่ได้ผล จึงอดอยากกัน ต้องซื้อข้าวสารถังละ ๑ บาท ยังน่าประหลาดชาวนาอดข้าวต้องซื้อข้าวสารกินถังละบาท   ครอบครัวชาวนามีรายได้จากการทำนา เมื่อทำนาไม่ได้ข้าว ก็ไม่มีเงิน แม้ข้าวสารถังละบาทก็ยังไม่มีเงินซื้อข้าวสารหุงกิน  ชาวนาเกือบทุกครัวเรือนต้องหุงข้าวปนเผือก ปนมัน ปนขุยไผ่ ต้องต้มข้าวต้มกินกันตายไปวันๆ หนึ่งเหมือนกันทุกครัวเรือนในตำบลตาก้อง  และตำบลใกล้เคียง  ยังเป็นปแห่งความอดอยากปากแห้งของชาวไร่ชาวนา

     ข้าพเจ้าเป็นเด็กวัดในเมือง จึงมีอาหารกินดีอยู่ดีไม่อดอยาก จึงมักอยู่แต่วัด  ไม่ค่อยกลับบ้าน แม้ในวัดหยุดเสาร์- อาทิตย์ หรือหยุดเทอม

     คืนหนึ่งนอนฝันว่า ขุดบึ้ง พบไข่บึ้งเหลืองอร่าม แต่เสียมได้แทงไข่บึ้งขาดกลางเสียแล้ว  ไข่บึ้งนี้ปิ้งกินอร่อยมาก นึกเสียดายไข่บึ้งมาก ตืนขึ้นก็สังหรณ์ว่าเป็นฝันร้าย 

     พอรุ่งเช้าตอนสายพ่อก็มาหาที่วัด มาบอกว่า ขอให้ลาออกจากโรงเรียนไปช่วยพ่อหาเงินเลี้ยงครอบครัวเถิด  ครอบครัวเรากำลังอดอยากยากจนมาก ตอนนี้เขากำลังรับสมัครครูประชาบาล ออกไปสมัครเป็นครูประชาบาลจะได้เงินเดือน ๑๔ บาท ข้าพเจ้าว่า "พ่อไปลากับครูเอาซิ  ผมไม่ไปหรอก" 

     พ่อจึงไปลาออกจากโรงเรียนแทน  แล้วให้ไปรับใบสุทธิจากครู เอาใบสุทธิไปเป็นหลักฐานสมัครเป็นครูประชาบาล วันนั้นพ่อบอกว่า "ต้ังแต่เช้ายังไม่ได้กินข้าว วันนี้เป็นวันพระมีขนมมาก ไปเอาขนมมาให้พ่อกินมั่ง" ข้าพเจ้าจึงไปเอาขนมเข่ง ขนมเทียน ห่อผ้าขาวม้ามาให้พ่อกินหลายชิ้น แล้วพ่อก็กลับไป  ข้าพเจ้ามองตามพ่อไปจนลับตา สงสารพ่อมาก จึงตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนด้วยความเศร้าโศก 

    ข้าพเจ้าจึงไปขอยืมเงินหลวงตาบุญ ๑ บาท เอาไปถ่ายรูปติดใบสุทธิเพราะไม่มีเงินติดตัวเลยสักบาทเดียว
     ปีนั้นข้าพเจ้าจนจริงๆ บางวันมีเงินอยู่เพียง ๑ สตางค์ ไปเดินในตลาดหิวเต็มที หันไปสั่งข้าวต้ม ๑ ชาม ๆละ ๑ สตางค์  เอามานั่งซดข้าวต้มกิน แต่มันจืดเต็มที  จีงเอาน้ำปลามาราดข้าวต้มพอเค็มๆ เจ็กเจ้าของร้านมันร้องตวาดว่า 
     "ซื้อข้าวต้มตังเดียว  ยังเอาน้ำปลาอีก"
     ข้าพเจ้านั่งก้มหน้ากินจนหมดชาม  เพราะมันหิวเต็มที
     เล่าอย่างนี้คงเห็นสภาพของเด็กวัดคนหนึ่งได้ว่ามันตกต่ำขนาดไหน มันลำเข็ญขนาดไหน
     วันหนึ่งเดินในตลาด เห็นเสื้อเชิ๊ตแขนสั้นสีชมพูแขวนอยู่ นึกอยากได้จึงถามเจ็กเจ้าของร้านว่าราคาเท่าไร
     "๒๕ ตัง"
     ข้าพเจ้าปล่อยเสื้อ เพราะไม่มีเงินแม้แต่สัก ๒๕ สตางค์    
     "ไม่มีสตางค์"
     "ไม่มีสตางค์แล้วถามซื้อทำไมวะ"
     ข้าพเจ้าจึงรึบเดินหนีเจ้าของร้านหนุ่มลูกเจ็กคนน้ันไปโดยเร็ว 


วันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ชีวประวัติ"ทรายเม็ดหนึ่ง" ตอน ชีวิตที่เร่ร่อนระหว่างเรียน



ชีวิตที่เร่ร่อนระหว่างเรียน

เมื่อเรียนอยู่ที่โรงเรียนประชาบาลวัดตาก้อง ใน พ.ศ. ๒๔๘๐ นั้น เรียนชั้น ป.๔ ครูเง็กเซ้ง แซ่อึ้ง เป็นครูประจำชั้น ข้าพเจ้าเป็นเด็กเรียนเก่ง  ปลายปีไปสอบไล่รวมที่วัดพะเนียงแตก นายอารมณ์ รอบคอบ เป็นครูใหญ่ มีภรรยาชื่อครู กำมะหยี่ เป็นน้องสาวครูเกี่ยเม้ง แซ่ลิ้ม  ปีน้ันข้าพเจ้าสอบได้คะแนนยอดเยี่ยมของสนามสอบ  ๒ โรงเรียน  ครูสมพงษ์ ภานุพินทุ ครูใหญ่โรงเรียนวัดตาก้อง จึงไปหาพ่อที่บ้านบอกพ่อว่า

"ลูกชายเรียนหนังสือเก่งสอบไล่ได้ที่ ๑ ของสนามสอบ ขอให้ส่งเรียนชั้นมัธยมเถิด..."

พ่ออนุญาต ครูสมพงษ์ ภานุพินทุ จึงรับเป็นธุระไปฝากเข้าเรียนโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย ซึ่งมีครูผล หงส์สูตร เป็นครูใหญ่ ข้าพเจ้าได้เรียนชั้นมัธยม สมัยนั้นไม่มีใครได้เรียนชั้นมัธยม มีอยู่ ๒ คน คือ นายจรูญ เก้าลิ้ม กับข้าพเจ้าเท่านั้น

พ่อจึงนำไปฝากเป็นลูกศิษย์หลวงพี่แก้ว สิงห์ตาก้อง  วัดห้วยจระเข้  ได้อาศัยเป็นเด็กวัดกินข้าวก้นบาตรพระเรียนหนังสือต่อมา  หลวงพี่แก้ว มีลูกศิษย์ ๓ คน คือ นายสำราญ รอดผล, นายวัน ชัยหา, กับข้าพเจ้า แต่หลวงพี่แก้วรักใคร่ข้าพเจ้ามากเป็นพิเศษ ตกกลางคืนจะเอาไปนอนเตียงเดียวกับท่าน   พอตื่นจึงให้ออกมานอนข้างนอก ๑ คืน สลับกันไปจนตลอดปี ซื้อเสื้อ กางเกงให้ด้วย แต่สิ้นปีท่านก็ลาสึกออกไปแต่งงาน ข้าพเจ้าจึงหมดที่พึ่งอีก

พอขึ้นชั้น ม.๒ ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ พ่อจึงนำไปฝากบ้านคุณปู่ทองอยู่ ภูมิรัตน์  กับย่าเล็ก  อาศัยบ้านท่านอยู่  คุณปู่ทองอยู่เป็นญาติฝ่ายเขยของพ่อ ท่านแต่งงานกับย่าทิม สุนทรศารทูล แต่ย่านั้นตายเสียแล้ว ท่านจึงได้ภรรยาใหม่ ชื่อ ย่าเล็ก ข้าพเจ้าจึงได้อาศัยบ้านท่านอยู่ ๑ ปี เมื่อเรียนชั้น ม. ๒

ต่อมาย่าเล็กมีหลานมาอยู่ด้วย ๒ คน ชื่อ นายประสงค์ กับหญิงชื่อประนอม ย่าจึงบอกให้ข้าพเจ้าหาที่อยู่ใหม่ ปู่จึงเอาข้าพเจ้าไปฝากบ้านลุงโกย ป้าถม กุยะเนตร เสมียนทนายของคุณปู่   แต่คุณลุงโกย ป้าถมเป็นคนยากจนหาเช้ากินค่ำ อยู่กับท่านในพ.ศ. ๒๔๘๓ ได้ ๑ เทอมท่านก็ขอให้ไปหาที่อยู่ใหม่ พ่อจึงเอาไปฝากหลวงตาปาน ทับสายทอง วัดห้วยจระเข้ เป็นศิษย์วัดห้วยจระเข้ หลวงตาปานเป็นอาของเสือผาด ทับสายทอง เสือใหญ่แห่งเมืองนครปฐม หลวงตาปานเคยเป็นทหาร ยศนายสิบโท ออกมาบวชเมื่อแก่ ท่านมีนิสัยดุร้าย ท่านเคยเตะพระตกกุฎิมาแล้ว ท่านจึงมักจะดุด่าข้าพเจ้าแรงๆ ข้าพเจ้าจึงหนึท่านไปอาศัยกับหลวงตาบุญ ไปหาท่านเองบอกกับท่านว่า "หลวงตาผมมาขออาศัยอยู่ด้วย"  ท่านก็รับไว้เป็นลูกศิษย์ ท่านรักใคร่เมตตามาก จึงให้ข้าพเจ้าหาบสาแหรกคาน สำหรับรับแกงจากชาวบ้านเดินตามหลังท่านไปบิณฑบาตไกลถึงตำบลบ่อพลับทุกวัน  ได้กินอาหารหลังจากท่าน จึงทำให้ไปโรงเรียนสายเกือบทุกวัน


ปีพ.ศ.๒๔๘๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๓ นี้ ฝนแล้งติดต่อกันถึง ๓ ปี ทำให้ทำนาไม่ได้เลย ชาวบ้านวัดตาก้อง จึงพากันอดอยากยากจนมาก ครอบครัวของข้าพเจ้าก็ทำนาไม่ได้ข้าวเลย ๓ ปี ทำให้อดอยากมากขนาดที่ชาวบ้านวัดตาก้องต้องหุงข้าวปนเผือก  ปนมัน ปนขุยไผ่ หรือต้มข้าวต้มกินพอประทังอดอยาก เรียกว่าอดอยากปากแห้งกันทั้งตำบล  ในพ.ศ.๒๔๘๑- ๒๔๘๓ รวม ๓ ปี เร่ร่อนไปอาศัยบ้านและวัด ๕ แห่ง  
(โปรดติดตามตอนต่อไป)