วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2558

(ชีวประวัติ) ทรายเม็ดหนึ่ง ตอน .... หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม


หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม 

     เพราะเหตุที่มีความเลื่อมใสศรัทธาจึงนิมนต์หลวงพ่อเงิน วัดดอนยาหอม เป็นพระอุปัชฌาชย์  แล้วก็ได้ตอบแทนบุญคุณหลวงพ่อตามสติปัญญา  จึงได้แต่งประวัติหลวงพ่อเงิน  ขึ้นเป็นเล่มพิมพ์เผยแพร่ในเวลาต่อมา  มีคนนิยมอ่านกันมากพอสมควร พิมพ์ ๓๐๐๐ เล่ม จึงหมดในเวลาไม่นาน  หลวงพ่อเงินท่านปรารถนาพระโพธิญาณในอนาคต  เหมือนท่านบัณฑูรสิงห์ แห่งเมืองสมุทรสงคราม  มีหลายคนเชื่อว่าพญากงแห่งยุคทวาราวดี ผู้ครองเมืองทวาราวดี เมื่อพ.ศ.๓๐๐  กลับชาติมาเกิดเป็นหลวงพ่อเงินองค์นี้   ข้าพเจ้าเองก็เชื่อเช่นน้้น  ท่านจึงไปเกิดที่ตำบลยายหอม  ซึ่งตามตำนานน้ัน ยายหอมคือมารดาเลี้ยงของพญาภาณ  ส่วนพญาภาณผู้ทำปิตุฆาตฆ่าพญากง  และฆ่ายายหอมมารดาเลี้ยง ยังเสวยนรกอยู่ 

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ชีวประวัติทรายเม็ดหนึ่ง ตอน.... บวชฉลองกึ่งพุทธกาล


บวชฉลองกึ่งพุทธกาล

     พ.ศ. ๒๕๐๐ มีข้าราชการลาบวชฉลองกึ่งพุทธกาลกันมากถึง ๒๕๐๐ คน ในงานฉลองกึ่งพุทธกาล  ข้าพเจ้าจึงลาราชการออกบวช  เมื่อวันที่ ๑๐  กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๐  พ่อตายแล้ว  จึงไปอยู่เอาคุณปู่ทองอยู่ ภูมิรัตน์  มาสะพายบาตร ไปบวชที่วัดพระปฐมเจดีย์  ซึ่งมีอุโบสถอยู่บนระเบียงบฃลานพระปฐมเจดีย์ชั้นสอง  พระอุโบสถหลังนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างไว้บนลานเจดีย์องค์พระปฐมเจดีย์  ทรงเอาพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา สลักด้วยหินสีขาวในสมัยทวาราวดี ซึ่งพบที่หลังองค์พระปฐมเจดีย์ ๔ องค์ องค์หนึ่งเอาไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ  องค์หนึ่งเอาไปไว้ที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดอยุธยา  องค์หนึ่งเอาไปตั้งไว้ที่ลานเจดีย์ ชั้น ๑  บนบันไดทิศทักษิณ  อีกองค์หนึ่งเอาเป็นพระประธานในพระอุโบสถบนลานเจดีย์ชั้นสอง  ข้าพเจ้าได้อุปสมบทต่อหน้าพระพักตร์พระประธานศิลาปางปฐมเทศนาสมัยทวาราวดีองค์นี้ 

     พระอุปัชฌาชย์ คือ  พระราชธรรมาภรณ์ (หลวงพ่อเงิน จันทสุวรรโณ)  เจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม  ซึ่งเกิดปีเดียวกับพ่อ คู่สวดคือ  พระครูปฐมเจติยาภิบาล (ป่วน)  วัดพระปฐมเจดีย์ กับ หลวงพ่อเฟื่อง วัดห้วยจระเข้    ข้าพเจ้าได้รับฉายาว่า ฉันทธัมโม  เมื่อบวชจึงมีนามว่า พระภิกษุเทพ ฉันทธัมโม (แปลว่า ผู้พอใจในธรรม)  บวชแล้วได้ติดตามหลวงพ่อเฟื่องไปอยู่วัดห้วยจระเข้ มีเจตนาว่า อยู่ใกล้บ้านแม่ตอนเช้าจะได้เดินทางไปบิณฑบาตรถึงบ้านให้แม่ได้ตักบาตรทุกวัน   เป็นการโปรดมารดาตามความคิดของตนเอง จึงได้เดินทางด้วยเท้าเปล่าไปบิณฑบาตรให้แม่ได้ตักบาตรทุกวันตลอดเวลา ๙๐ วัน 
     ระหว่างบวชไม่ได้เรียนปริยัติธรรม ไม่ได้ฝึกสมาธิวิปัสสนา เพียงแต่ลงโบสถ์สวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็นทุกวัน  แล้วสอบนักธรรมได้รับประกาศนียบัตรนักธรรมตรี 
     บวชอยู่ ๙๐ วัน แล้วเดินทางไปลาสึกกับพระธรรมปิฎก (สนิท เขมจารี)  เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม  เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๐
     พักบ้านคืนเดียว รุ่งเช้าก็เดินทางไปประชุมเรื่อง วิทยุโรงเรียนที่ตึกมหาราช ตำบลอ่างศิลา   จังหวัดชลบุรี 
      การประชุมนี้ เข้าประชุมบ่อยๆ นับร้อยครั้งจนจำไม่ได้ว่า เข้าประชุมอบรมประชุมสัมมนาว่าด้วยเรื่องอะไรบ้าง  ครั้งละ ๗ วัน ๑๕วัน  ๑ เดือน ๓ เดือน ตลอดเวลาที่เป็นข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ  ประชุมบ่อยที่สุด อบรมบ่อยที่สุด  ประชุมสัมมนาบ่อยที่สุด  แต่มีความเสียใจที่จะบอกว่า  ไม่มีการติดตามประเมินผลว่าได้ผลงานอะไรขึ้นมาบ้าง  การบริหารงานการศึกษาจึงค่อนข้างจะว่างเปล่า  ล้มเหลว เป็นการบริหารงานแบบเก่าแก่โบราณล้าสมัยเต็มที 
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558

(ชีวประวัติ) ทรายเม็ดหนึ่ง ....ตอน เป็นศึกษาธิการอำเภอหนุ่มใหญ่


เป็นศึกษาธิการอำเภอหนุ่มใหญ่

     นายเทพ  สุนทรศารทูล เป็นศึกษาธิการอำเภอเมือง สมุทรสงครามเมื่ออายุ ๒๙ ปี ยังโสดอยู่  สมัยก่อนศึกษาธิการอำเภอมักจะเป็นคนมีอายุสูง   เมื่อนายเทพ สุนทรศารทูล เป็นศึกษาธิการอำเภอเมื่ออายุยังน้อยอยู่   จึงเป็นเรื่องตื่นเต้นกันในหมู่ครูอาจารย์   บางคนชมว่าหนุ่มรูปหล่อ  บางคนว่าศึกษาหน้ามน  บางคนว่ารูปร่างเหมือนออร์ดี้ ้เมอร์ฟี่  พระเอกหนัง บางคนพูดว่ารู้ตัวหรือเป็นชายรุปหล่อ


     แต่นายเทพ  สุนทรศารทูล ไม่ได้ตื่นเต้นมากนัก ไปตื่นเต้นอยู่แต่เรื่องวงศ์สกุลของตัวเองว่าสืบมาจากวงศ์ราชินีกุลบางช้าง   จึงได้ลงมือศึกษาค้นคว้าจากหนังสือ  ลำดับวงศ์ราชินีกุลบางช้าง  หรือ พงศาวดารราชินีกุลบางช้าง  ก็ได้ทราบโดยแนชัดว่าสืบวงศ์ลงมาตามลำดับต้ังแต่พระมหาธรรมราชาธิราช (ขุนพิเรนทรเทพ)  เชื้อสายกษัตริย์ราชวงศ์สุโขทัย  ที่กระทำการปราบปรามขุนวรวงศาธิราช  ประหารชีวิตเสียพร้อมกับท้าวศรีสุดาจันทร์  แล้วยกพระเธียรราชา  อนุชาพระไชยราชาธิราช  ขึ้นเป็นพระมหาจักรพรรดิ์  ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา   พระมหาจักรพรรดิ์สถาปนาขุนพิเรนทรเทพ  เชื้อสายกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย   ขึ้นเป็นพระมหาธรรมราชาธิราช  อุปราชครองเมืองพิษณุโลก   ยกพระวิสุทธิกษัตริย์ราชธิดาให้เป็นมเหสีของพระมหาธรรมราชาธิราช    มีราชบุตรสืบวงศ์ต่อมา ๔ องค์ คือ
     ๑. พระองค์เจ้าหญิงอำไพวรรณ
     ๒. พระองค์เจ้าหญิงสุพรรณกัลยา
     ๓. พระองค์เจ้าชายนเรศวร
     ๔. พระองค์เจ้าชายเอกาทศรถ 
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558

(ชีวประว้ติ ) ทรายเม็ดหนึ่ง ....ตอน... ไปเมืองสุพรรณบุรี



ไปเมืองสุพรรณบุรี

               ยังจดจำคำสั่งของพ่อว่า  ให้ไปหาคุณพระภักดีศรีสุพรรณภูมิ (สุด ) ผู้เป็นน้องชายปู่เวก  ที่สุพรรณบุรีเพื่อขอใช้นามสกุล  "สุนทรศารทูล"
              วันหนึ่งจึงได้เดินทางไปจังหวัดสุพรรณบุรี  ได้พบคุณปู่พระภักดีศรีสุพรรณภูมิ (สุด สุนทรศารทูล) ที่บ้านท่านในเมืองสุพรรณบุรี  คุณปู่พระภักดีศรีสุพรรณภูมิ และคุณย่าทิม ได้ต้อนรับอย่างอบอุ่นในฐานะเป็นลูกหลาน   คุณย่าทิม ถึงแก่เข้าครัวทำอาหารเลี้ยง เมื่อรู้ว่าเป็นหลานปู่เวก  คุณปู่พระภักดี ฯก็ดีใจ   เอาแผนผังนามสกุลมาตรวจดูว่าสืบสกุลมาอย่างไร   ในแผนผังนามสกุลนั้น คุณปู่พระภักดี ฯทำไว้อย่างละเอียด  นับแต่ต้นวงศ์คือ พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม (เสือ สุนทรศารทูล)  
     สายที่ ๑   พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม  (เสือ สุนทรศารทูล)    มีคุณหญิงชื่อ นาค มีบุตรชื่อ สว่าง  ได้เป็นพระยาสุนทรบุรี (สว่าง สุนทรศารทูล ) เจ้าเมืองนครไชยศรี
     สายที่ ๒ พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม  (เสือ  สุนทรศารทูล) มีภรรยาชื่อว่า คุณเสน  มีบุตรชื่อหลวงโภชสารี (หรุ่น สุนทรศารทูล) เป็นผู้ช่วยราชการเมืองนครไชยศรี
     สายที่ ๓ พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม (เสือ สุนทรศารทูล)  มีภรรยาชื่อ คุณแสง  มีบุตรชื่อ  หลวงสากลพิทักษ์ (หมี สุนทรศารทูล)  เป็นยกกระบัตรเมืองนครไชยศรี
     สายที่ ๔ พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม (เสือ สุนทรศารทูล)  มีภรรยาชื่อ คุณอ่วม  มีบุตรชื่อ นายจี่ และนายเอี่ยม สุนทรศารทูล 
     สายที่ ๕ พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม (เสือ สุนทรศารทูล) มีภรรยาชื่อ ชิ้น  มีบุตรชื่อ ชุบ  เป็นขุนอุภัยภาดาเขตต์ (ชุบ สุนทรศารทูล)  นายอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี  
     ในแผนผังวงศ์สกุลน้้น ได้แสดงสายสืบลงมาอีกหลายชั้นจนถึงปัจจุบันนี้ 
      เมื่อถามถึงพระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม (เสือ สุนทรศารทูล) ว่า สืบวงศ์มาจากขุนนางสายไหน
     ท่านบอกว่า 
     "สืบวงศ์มาจากวงศ์ราชินีกุลบางช้าง"
     ท่านพูดต่อไปว่า
     "แต่เขาห้ามกันมาในวงศ์สกุลว่า ไม่ให้กล่าวถึงเพราะเป็นการบังอาจเอื้อมไปนับวงศ์ญาติกับพระเจ้าอยู่หัว ไม่เป็นสิริมงคลแก่ตัวและวงศ์ตระกูล"
     แล้วพระภักดีศรีสุพรรณภูมิ (สุด สุนทรศารทูล)  ก็เขียนหนังสืออนุญาตให้ใช้นามสกุล สุนทรศารทูล  แต่ท่านมีจดหมายบอกไปทาง คุณอาถวิล สุนทรศารทูลว่า  อนุญาตให้นายเทพ  สุนทรศารทูล หลานของนายเวก ใช้นามสกุล  สุนทรศารทูล ต่อไป
     นายเทพ สุนทรศารทูล   จึงถือหนังสือไปพบคณอาถวิล  สุนทรศารทูล  ปลัดกระทรวงมหาดไทย คุณอาถวิล สุนทรศารทูล พูดว่า 
     "เราขาดการติดต่อกันมานาน  เมื่อเจ้าของท่านอนุญาตแล้ว ก็มีสิทธิใช้นามสกุล  สุนทรศารทูล ได้"
     นับแต่ พ.ศ.๒๕๐๑  นายเทพ  ศรีธนทิพย์ จึงเปลี่ยนนามสกุลว่า นายเทพ   สุนทรศารทูล 
     คุณอาถวิล สุนทรศารทูล  เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยอยู่นานที่สุด แสงรังสีรัศมีของท่านได้ปกแผ่มาปกป้อง  ให้เจ้าเมือง นายอำเภอ นายตำรวจ อัยการเกรงใจตลอดมา เมื่อรู้ว่า นายเทพ สุนทรศารทูล เป็นหลานชายของปลัดกระทรวงมหาดไทย ต่อมาคุณพี่ดำรง สุนทรศารทูล  ก็เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยอีกคนหนึ่ง รัศมีของท่านก็ปกแผ่ไปคุ้มครองตลอดมา 
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

(ชีวประวัติ) ทรายเม็ดหนึ่ง ตอน..... วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๘


วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๘

     ก่อนออกเดินทางไปรับตำแหน่งศึกษาธิการอำเภอ ได้ไปหาพระครูปฐมเจติยาภิบาล (ป่วน)  ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์  ซึ่งเป็นโหราจารย์ให้ดูฤกษ์ยามให้  ท่านกำหนดให้เดินทางวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๘  ได้ไปลาท่านขุนเชาวน์ปรีชาศึกษากรที่บ้าน  ท่านมอบพระสิบทัศวัดดอนยายหอมให้เป็นที่ระลึก ๑ องค์  ไปกราบลาพระร่วงโรจนฤทธิ์ที่เคยถวายตัวเป็นลูกไว้  แล้วออกเดินทางจากหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ โดยรถยนต์ไปลงเรือยนต์ที่จังหวัดราชบุรี  ล่องเรือไปตามลำน้ำแม่กลองที่ไม่เคยไปเลย   จึงได้ชมทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำแม่กลองด้วยความเพลิดเพลิน  ตื่นตาตื่นใจ   เรือยนต์ถึงแม่กลองเวลาค่ำ  เขาจัดเลี้ยงต้อนรับที่หน้าที่ว่าการอำเภอเมืองสมุทรสงคราม  โดยนายเฟื้อ สายสกุล  ผู้ช่วยศึกษาธิการอำเภอได้จัดการต้อนรับคณะผู้ติดตามไปส่งประมาณ  ๑๐๐ คน  แล้วจัดให้พักโรงแรมและเรือนรับรองของสโมสรวัฒนธรรมฝ่ายหญิงในโรงพยาบาลสมุทรสงคราม   นายสมเกียรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร ได้ติดตามไปส่งได้ไปนอนสั่งสอนอยู่ครึ่งคืนด้วยความเมตตา  ต่อมาท่านได้เป็นศึกษาธิการภาคราชบุรี  จึงได้ไปเยี่ยมเยียนท่านบ่อยๆ  
     อำเภอเมืองสมุทรสงครามมีนายอำเภอชื่อ  คุณชัชวาลย์  ชมปรีชา เป็นชาวสุพรรณบุรี  ท่านมีความเมตตาข้าพเจ้าเป็นพิเศษ  คือไปตรวจราชการตำบลไหนก็เอาไปด้วยทุกแห่ง  ท่านไปพร้อมคุณนายของท่านลงเรือจ้างไปตามตำบลต่างๆ  ท่านชอบออกเยี่ยมเยียนราษฎร  สมัยน้ัน นายแสวง เรืองจำเนียร เป็นศึกษาธิการจังหวัด  มีคุณนายชื่อ คุณนายละมุน  เป็นชาวลำปาง  ท่านมีลูกสาวสวยคนหนึ่ง ชื่อ พิเศษศรี  คุณนายมีท่าทีเอ็นดูนายเทพ  พูดว่าถ้าได้เป็นลูกเขยก็ดี  มาขอลูกสาวก็จะให้  แต่ น.ส.พิเศษศรี เรืองจำเนียร ป.ม. มีคู่รักเสียแล้ว 
     ผู้ว่าราชการจังหวัดชื่อ นายเจริญ ภมรบุตร คุณนายชื่อ สงัด ภมรบุตร  เดิมท่านสายสกุล ณ บางช้าง  ต่อมาคนในสกุลภมรบุตร  ขอไปเป็นบุตรบุญธรรม จึงไปใช้นามสกุล ภมรบุตร  ซึ่งเป็นคนในตระกูลราชินีกุลบางช้างด้วยกัน  ปลัดจังหวัดชื่อ คุณกระจ่าง บุญยเกตุ เป็นน้องชาย นายทวี บุญยเกตุ,   ผู้ช่วยศึกษาธิการจังหวัดชื่อ นายปัญญา อินทรโอสถ  ศึกษาธิการอำเภอเมือง, ศึกษาธิการอำเภอเมืองชื่อ นายอำนาจ บรรเทาทุกข์, ศึกษาธิการอำเภออัมพวาชื่อ นายเปล่ง คงอยู่,  ศึกษาธิการอำเภอบางคณฑีชื่ออ นายพูล เงินดี  
     ในวันที่เดินทางไปอยู่เมืองสมุทรสงคราม มีข้าราชการพิเศษไปส่ง ๓ ท่านคือ 
     ๑. นายสมเกียรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร ผช.ศธ. ภาค
     ๒. นายทิพย์ ฟักเจียม ศึกษาธิการจังหวัด
     ๓. นายสง่า ไทยานนท์  มหาดไทยภาค 
     ในสมัยนั้นชั้นเอกหายาก  มีไม่กี่คนจึงได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า   ชีวิตนี้ขอให้ได้เป็นข้าราชการชั้นเอกบ้าง แล้วก็ได้เป็นชั้นเอกในเวลาต่อมาอีก  ๑๖ ปี   
(โปรดติดตามตอนต่อไป)