วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ชีวประวัติทรายเม็ดหนึ่ง ตอน.... บวชฉลองกึ่งพุทธกาล


บวชฉลองกึ่งพุทธกาล

     พ.ศ. ๒๕๐๐ มีข้าราชการลาบวชฉลองกึ่งพุทธกาลกันมากถึง ๒๕๐๐ คน ในงานฉลองกึ่งพุทธกาล  ข้าพเจ้าจึงลาราชการออกบวช  เมื่อวันที่ ๑๐  กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๐  พ่อตายแล้ว  จึงไปอยู่เอาคุณปู่ทองอยู่ ภูมิรัตน์  มาสะพายบาตร ไปบวชที่วัดพระปฐมเจดีย์  ซึ่งมีอุโบสถอยู่บนระเบียงบฃลานพระปฐมเจดีย์ชั้นสอง  พระอุโบสถหลังนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างไว้บนลานเจดีย์องค์พระปฐมเจดีย์  ทรงเอาพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา สลักด้วยหินสีขาวในสมัยทวาราวดี ซึ่งพบที่หลังองค์พระปฐมเจดีย์ ๔ องค์ องค์หนึ่งเอาไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ  องค์หนึ่งเอาไปไว้ที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดอยุธยา  องค์หนึ่งเอาไปตั้งไว้ที่ลานเจดีย์ ชั้น ๑  บนบันไดทิศทักษิณ  อีกองค์หนึ่งเอาเป็นพระประธานในพระอุโบสถบนลานเจดีย์ชั้นสอง  ข้าพเจ้าได้อุปสมบทต่อหน้าพระพักตร์พระประธานศิลาปางปฐมเทศนาสมัยทวาราวดีองค์นี้ 

     พระอุปัชฌาชย์ คือ  พระราชธรรมาภรณ์ (หลวงพ่อเงิน จันทสุวรรโณ)  เจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม  ซึ่งเกิดปีเดียวกับพ่อ คู่สวดคือ  พระครูปฐมเจติยาภิบาล (ป่วน)  วัดพระปฐมเจดีย์ กับ หลวงพ่อเฟื่อง วัดห้วยจระเข้    ข้าพเจ้าได้รับฉายาว่า ฉันทธัมโม  เมื่อบวชจึงมีนามว่า พระภิกษุเทพ ฉันทธัมโม (แปลว่า ผู้พอใจในธรรม)  บวชแล้วได้ติดตามหลวงพ่อเฟื่องไปอยู่วัดห้วยจระเข้ มีเจตนาว่า อยู่ใกล้บ้านแม่ตอนเช้าจะได้เดินทางไปบิณฑบาตรถึงบ้านให้แม่ได้ตักบาตรทุกวัน   เป็นการโปรดมารดาตามความคิดของตนเอง จึงได้เดินทางด้วยเท้าเปล่าไปบิณฑบาตรให้แม่ได้ตักบาตรทุกวันตลอดเวลา ๙๐ วัน 
     ระหว่างบวชไม่ได้เรียนปริยัติธรรม ไม่ได้ฝึกสมาธิวิปัสสนา เพียงแต่ลงโบสถ์สวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็นทุกวัน  แล้วสอบนักธรรมได้รับประกาศนียบัตรนักธรรมตรี 
     บวชอยู่ ๙๐ วัน แล้วเดินทางไปลาสึกกับพระธรรมปิฎก (สนิท เขมจารี)  เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม  เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๐
     พักบ้านคืนเดียว รุ่งเช้าก็เดินทางไปประชุมเรื่อง วิทยุโรงเรียนที่ตึกมหาราช ตำบลอ่างศิลา   จังหวัดชลบุรี 
      การประชุมนี้ เข้าประชุมบ่อยๆ นับร้อยครั้งจนจำไม่ได้ว่า เข้าประชุมอบรมประชุมสัมมนาว่าด้วยเรื่องอะไรบ้าง  ครั้งละ ๗ วัน ๑๕วัน  ๑ เดือน ๓ เดือน ตลอดเวลาที่เป็นข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ  ประชุมบ่อยที่สุด อบรมบ่อยที่สุด  ประชุมสัมมนาบ่อยที่สุด  แต่มีความเสียใจที่จะบอกว่า  ไม่มีการติดตามประเมินผลว่าได้ผลงานอะไรขึ้นมาบ้าง  การบริหารงานการศึกษาจึงค่อนข้างจะว่างเปล่า  ล้มเหลว เป็นการบริหารงานแบบเก่าแก่โบราณล้าสมัยเต็มที 
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น