วันพุธที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2558

(ชีวประวัติ) ทรายเม็ดหนึ่ง ตอน........จัดตั้งโรงเรียนประชาบาล


จัดต้ังโรงเรียนประชาบาล 

     ตลอดเวลา ๒๖ ปีที่ทำหน้าที่ผู้บริหารการศึกษา  ในตำแหน่งศึกษาธิการอำเภอ  หัวหน้าส่วนการศึกษาจังหวัด   และผู้อำนวยการประุถมศึกษาจังหวัด  ได้เป็นผู้ริเริ่มจัดต้ังโรงเรียนประชาบาล  ๑๑ โรงเรียน คือ 
     ๑. โรงเรียนบ้านฉู่ฉี่  อำเภอเมืองสมุทรสงคราม
     ๒. โรงเรียนบ้านตะวันจาก อำเภอเมืองสมุทรสงคราม
     ๓. โรงเรียนบ้านลาดใหญ่  อำเภอเมืองสมุทรสงคราม
     ๔. โรงเรียนศรีศรัทธาธรรม  อำเภอเมืองสมุทรสงคราม
     ๕. โรงเรียนบ้านบางลี่  อำเภออัมพวา 
     ๖. โรงเรียนวัดภุมรินทร์  อำเภออัมพวา
     ๗. โรงเรียนวัดอินทาราม  อำเภออัมพวา
     ๘. โรงเรียนวัดไทร  อำเภอบางคณที
     ๙. โรงเรียนบ้านยายแพง  อำเภอบางคนที
     ๑๐. โรงเรียนจตุวัฎมหาราชานุสรณ์  อำเภออัมพวา 
     ๑๑. โรงเรียนวัดบางแก้ว  อำเภอเมืองสมุทรสงคราม 
     
     โรงเรียนประชาบาลทั้ง ๑๑ โรงเรียนนี้  นายเทพ สุนทรศารทูล ได้เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งด้วยตนเอง  มีหลักฐานปรากฎอยู่ในสมุดหมายเหตุรายวันโรงเรียนและประวัติโรงเรียนเหล่าน้ันทั้งสิ้น  บางแห่งต้องต่อสู้  เมื่อมีผู้ขัดขวาง  ไม่เห็นชอบด้วย  เช่น โรงเรียนวัดอินทาราม  อำเภออัมพวา  ต้องออกแรงสู้อย่างสุดแรง  เมื่อมีคณะกรรมการจังหวัด  ๒ คนไม่เห็นด้วย  คือศึกษาธิการจังหวัดและสาธารณสุขจังหวัด โดยกล่าวว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ  แต่ข้าพเจ้าต่อสู้อย่างแข็งแรง จนตั้งโรงเรียนวัดอินทารามได้สำเร็จ  เรื่องนี้พระครูพิศิษย์ประชานาถ (แดง)  เป็นพยานได้  
(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

วันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2558

(ชีวประวัติ) ทรายเม็ดหนึ่ง ตอน .......บุคคลสำคัญเมืองสมุทรสงคราม


บุคคลสำคัญเมืองสมุทรสงคราม

     บุคคลสำคัญเมืองสมุทรสงคราม ในสมัยสงครามค่ายบางกุ้ง คือ 
     ๑. หลวงอร่ามเรืองฤทธิ์(ทองด้วง)  ยกกระบัตรเมืองสมุทรสงคราม ได้เลือนยศเป็นพระราชวรินทร์ พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยายมราช เจ้าพระยาจักรี และสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก จนได้ปราบดาภิเษกเป็นพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก 
     ๒. พระมหามนตรี (บุญมา) น้องหลวงอร่ามเรืองฤทธิ์ ยกกระบัตรเมืองสมุทรสงคราม ได้เลื่อนยศเป็น พระยาอนุชิตราชา พระยายมราช เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช  จนกระทั่งเป็นสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระมหาอุปราช 
     ๓. คุณนาค ธิดาเศรษฐีบางช้าง ได้เป็นสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระมเหสีพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก 
     ๔. หลวงชลสินธุ์สงคราม (ศร)  ปลัดเมืองสมุทรสงคราม ได้เป็นพระแม่กลองบุรี  เจ้าเมืองสมุทรสงครามในสมัยกรุงธนบุรี  แล้วได้เป็นพระยาแม่กลองบุรีศรีมหาสมุทรสงครามในสมัยรัชกาลที่ ๑
     ๕. จีนกุน  นายทหารจีนผู้รักษาค่ายบางกุ้ง  ได้เป็นพระราชประสิทธิ(กุน)  ในสมัยกรุงธนบุรี  เป็นพระยาโกษาธิบดี แล้วเป็นเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน รัตนกุล)  ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้มาสร้างวัดใหญ่ขึ้น  เป็นวัดหลวงใหญ่โตในเมืองสมุทรสงคราม 
     ๖. พระแม่กลองบุรี (เสม)  เจ้าเมืองสมุทรสงคราม ได้เป็นพระยาอมรินทรฤาไชย เจ้าเมืองราชบุรี สมัยกรุงธนบุรี  แล้วเป็นเจ้าพระยาอมรินทรฤาไชย  ในสมัยรัชกาลที่ ๑
     ๗. คุณแสง  บุตรเจ้าพระยาอมรินทรฤาไชย (เสม) ได้เป็นจมื่นสะท้านมณเฑียร  แล้วเป็นพระยาอมรินทรฤาไชย เจ้าเมืองราชบุรี แล้วเป็นเจ้าพระยาองศาสุรศักดิ์ สมุหนายกในรัชกาลพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ท่านผู้นี้มาสร้างวัดบางแคใหญ่เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๗
     ๘. หม่อมบุนนาค ทนายคนสนิทของหลวงยกกระบัตร(ทองด้วง)   ได้เป็นพระยาอุไทยธรรม  และเจ้าพระยามหาเสนา(บุนนาค)  ในรัชกาลที่ ๑  ท่านผู้นี้เคยหลบภัยพม่ามาอาศัยอยู่กับพระพุทธยอดฟ้า ฯ  สมัยกรุงแตก เป็นตระกูลใหญ่ค้ำจุนราชบัลลังก์พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี
     ๙. คุณแก้ว  พี่สาวของพระพุทธยอดฟ้า ฯ  เคยหลบภัยพม่ามาอาศัยน้องชายอยู่ที่เมืองสมุทรสงคราม ได้มาคลอดธิดาชือ บุญรอด ที่เมืองสมุทรสงคราม  ต่อมาได้เป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ธิดาของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ได้เป็นสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระมเหสีพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  เป็นพระราชมารดาของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  
(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2558

(ชีวประวัติ) ทรายเม็ดหนึ่ง ตอน.... ค่ายบางกุ้ง


ค่ายบางกุ้ง

     ข้าพเจ้ามีความมุ่งหมายจะปลุกปัญญาของคนเมืองสมุทรสงครามให้ตื่นตัวในเรื่องประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองสมุทรสงคราม ที่เกือบทุกคนไม่รู้เรื่องอดีตกาล เมื่อ ๒๐๐ ปี ล่วงมาแล้ว  จึงได้ทำการ ๓ อย่าง 
     ๑. จัดการแสดงละครประวัติศาสตร์กลางแจ้ง  เรื่องสงครามตีค่ายบางกุ้ง  เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๑  เมื่อคนจีนในเมืองแม่กลอง ได้รวมกำลังกันรักษาค่ายบางกุ้งไว้  ค่ายบางกุ้งคือ ค่ายทหารในสมัยพระเจ้าเอกทัต  เมื่อกรุงแตก ค่ายทหารแห่งนี้ก็แตกร้างไป ครั้นแล้วคนจีนในเมืองแม่กลอง ได้เข้ารักษาค่ายบางกุ้งไว้เรียกว่าค่ายจีนบางกุ้ง  ต่อมาทหารพม่า ๒,๐๐๐ คน ได้มาล้อมค่ายนี้ไว้ในสมัยกรุงธนบุรี  พระเจ้าตากสินมหาราช จึงสั่งให้พระมหามนตรี (บุญมา)  น้องชายหลวงอร่ามเรืองฤทธิ์ (ทองด้วง)  ยกทัพเรือมาตีค่ายบางกุ้งคืนด้วยเรือรบ (เรือแจว) ๒๐ ลำ ทหาร ๒,๐๐๐ คน โดยพระเจ้าตากสินมหาราชคุมพลมาข้างหลัง  รุ่งเช้าเข้าตีพม่าที่ล้อมค่ายจีนบางกุ้ง  ไล่ฆ่าฟันทหารพม่าตายไป ๑๕๐๐ คน ศพลอยในแม่น้ำแม่กลอง  ที่เหลือแตกหนีกลับไป จึงจัดให้มีการแสดงละครกลางแจ้งเรื่องตีค่ายจีนบางกุ้ง   โดยให้กำนันผู้ใหญ่บ้านแสดงเป็นทหารไทยให้คนจีนแต่งกายเป็นทหารจีน  ละครกลางแจ้งเรื่องนี้เล่นกันจริงจังสนุกสนานมาก 
     ๒. แต่งหนังสือเรื่องค่ายบางกุ้ง  ออกเผยแพร่ ๑๐๐๐ เล่ม แสดงประวัติศาสตร์เรื่องนี้ จำหน่ายเล่มละ ๑๐ บาท 
     ๓. สร้างเหรียญพระเจ้าตากสินเผด็จศึกค่ายบางกุ้ง  จำนวน ๑๐,๐๐๐ เหรียญ ทำขึ้นพุทธาภิเษกที่อุโบสถวัดบางกุ้ง  จำหน่ายเหรียญละ ๒๕ บาท  เอาเงินมาสร้างค่ายลูกเสือบางกุ้งได้เงินหลายแสนบาท นิมนต์พระเกจิอาจารย์(พระอาจารย์ยอดเยี่ยม)  มาจากหลายจังหวัด เป็นพิธีพุทธาภิเศกที่เลื่ืองลือชื่อกันมาในคราวน้ัน 
     ทั้ง ๓ เรื่องนี้ทำให้ชาวเมืองสมุทรสงครามตื่นเต้นกันมาก รู้ประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองย้อนหลังไป ๒๐๐ ปี   นับว่า การจุดประกายทางปัญญาคราวนี้ได้ผลดีเกินคาดหมาย  จนกระทั่งเกิดความอิจฉาริษาขึ้น เจ้านายไม่ชอบหน้า  หาทางกลั่นแกล้งต่างๆ แต่น่าอัศจรรย์ที่ท่านที่กลั่นแกล้งข้าพเจ้าถูกย้ายออกจากเมืองสมุทรสงครามในเวลาต่อมาทั้ง ๓ ท่าน  ส่วนข้าพเจ้าคงอยู่เมืองสมุทรสงครามต่อไป 
(โปรดติดตามตอนต่อไป)