วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

(ชีวประวัติ) "ทรายเม็ดหนึ่ง" ตอน...ผู้ใหญ่บ้าน เอี่ยม อยู่อินทร์


ผู้ใหญ่บ้านเอี่ยม  อยู่อินทร์


   สมัยนั้นยังมีหนุ่มชายนายหนึ่ง สืบสกุลจีนมาในนามของนายเอื่ยม แซ่เอี้ยว เป็นบุตรของจีนสร้อย แซ่เอี้ยว เป็นลูกเจ๊กนอกชื่อ เจ๊กอู๋  แซ่เอี้ยว สืบสกุลจีนมา ๓ ชั่วคน  เมื่อสมัยคนไทยถูกบังคับให้ใช้นามสกุล  จึงใช้นามสกุลว่า "อยู่อินทร์" เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖
ต่อมานายเอี่ยม อยู่อินทร์  ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๔ ตำบลตาก้อง เรียกกันว่า ผู้ใหญ่เอี่ยม อยู่อินทร์  รู้ว่านางสาวอิน  แซ่โหงว ตกไปขายเป็นทาสอยู่ในเมือง  จึงเอาเงิน ๘๐ บาท ไปไถ่ตัวมาเป็นภรรยา เมื่อพ.ศ. ๒๔๒๐

ผู้ใหญ่เอี่ยม อยู่อินทร์  กับนางอิน แซ่โหงว  มีบุตรด้วยกันรวม ๙ คน  คือ
๑.    นางมุ้ย ศรีสุข  แต่งงานกับนายสุก ศรีสุข
๒.   นางพง อยู่อินทร์  แต่งงานกับนายเพ็ชร  อยู่อินทร์
๓. นายเขียว อยู่อินทร์  ได้รับเลือกตัวเป็นผู้ใหญ่บ้านแทนนายเอี่ยม อยู่อินทร์
๔. นางไผ่ ใจดี   แต่งงานกับนายเขียว ใจดี
๕. นายไพ่ ใจดี ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านแทน ผู้ใหญ่เขียว 
อยู่อินทร์
๖. นางชื่น อยู่อินทร์  แต่งงานกับนายเพชร อยู่อินทร์  นายเพชรไม่มีนามสกุล จึงใช้นามสกุล  อยู่อินทร์ของพ่อตา
๗. นางเชื่อม ปั้นอินทร์  แต่งงานกับนายฉาย ปั้นอินทร์ คนตำบลมาบแค
๘. นางถม ศรีธนทิพย์  แต่งงานกับนายโอ้  ศรีธนทิพย์ ชาวอำเภอนครไชยศรี 
๙. น.ส. เรือง  อยู่อินทร์  ถึงแก่กรรมเมื่อยังสาว


น่าแปลกประหลาดมาก ในบรรดาลูกทั้ง ๙ คน มีผิวขาวอยู่ ๓ คน คือ นางไผ่ นางถม และน.ส. เรือง โดยเฉพาะนางถม ศรีธนทิพย์ ผิวขาวเหลืองแบบบางเหมือนนางอิน  ผู้มารดา  และมีอายุยืน  ๙๖ ปี เหมือนนางอิน  อีก ๖ คน ผิวดำคล้ำ เป็นคนไทยพื้นเมืองหมดทุกคน




(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2558

(ชีวประวัติ) "ทรายเม็ดหนึ่ง" ตอน...นางสาวอิน แซ่โหงว


                                               
นางสาวอิน แซ่โหงว


นางสาวอิน แซ่โหงว ถูกเตี่ยจูงมือไปขายก่อน ในราคา ๘๐ บาท
ต่อมา นางสาวปุก แซ่โหงว ก็ถูกจูงมือไปขายเป็นคนที่สอง ราคา ๘๐ บาท

สมัยนั้น ข้าวเปลือกราคา เกวียนละ ๒๐ บาท   เงิน ๘๐ บาท จึงมีค่าเท่ากับข้าวเปลือก ๔ เกวียน  ที่ขายได้ราคาคนละ ๘๐ บาท นับว่าราคาสูงมากแล้ว  เขารับซึ้อไว้ในฐานญาติ
ทั้ง ๓ นาง ลูกสาวจีนเสม แซ่โหงว ทำงานเป็นทาสท่านตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี จนกระทั่งอายุ ๒๐ ปี

ขอสรุปว่า

นายเทพ สืบสายเลือดมาจากตระกูลทาสของยาย ในสมัยรัชกาลที่ ๓  ยายชื่ออิน  เตื่ยเอาไปขายเป็นทาสท่านราคา ๘๐ บาท หรือ ๑ ชั่ง

สายเลือดข้างพ่อ สืบวงศ์สกุลมาจากวงศ์ขุนนาง พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม (เสือ สุนทรศารทูล) ผู้สำเร็จราชการเมืองนครไชยศรี  สมัยรัชกาลที่ ๓ 





(โปรดติดตามตอนต่อไป)


(ชีวประวัติ) "ทรายเม็ดหนึ่ง" ตอน...จีนเสม แซ่โหงว


                                                                         

จีนเสม แซ่โหงว

จีนเสม แซ่โหงว ได้ภรรยาเป็นคนไทย ชื่อนางสร้อยเกี้ยว เป็นชื่อเรียกสร้อยทองเส้นใหญ่ ใช้คล้องคอพาดไหล่ เหมือนห่มผ้าสไบเฉียง  เป็นลูกสาวคนมั่งมีในตำบล
จีนเสม แซ่โหงว มีลูกกับนางสร้อยเกี้ยว ๓ คน  เป็นลูกสาวทั้งหมด ไม่มีลูกชาย  สมัยนั้นมีโรงยาฝิ่นมาตั้งขายในตำบลนั้น จีนเสม แซ่โหงว ชอบสูบฝิ่นมาก จนติดฝิ่นงอมแงม  ฐานะก็ยากจนลง

สมัยนั้นยังมีข้าทาสเอาคนไปขายเป็นทาสรับใช้เศรษฐีได้ ผัวก็ขายเมียได้ พ่อก็ขายลูกได้
ค่าตัวทาสอย่างธรรมดาก็ราคา ๑ ชั่ง  ๒ ชั่ง  ๓ ชั่ง  ๔ ชั่ง  ๕ ชั่ง เป็นอย่างสูง  ได้เงินมาแล้วก็ต้องเอาลูกเอาเมียไปให้เศรษฐีใช้เป็นทาส เรียกว่า "ขัดดอก"  คือ ทำงานต่างดอก ไม่มีเงินเดือน  เป็นการทำงานแทนดอกเบี้ย   ถ้ามีเงินก็เอาเงินไปไถ่ตัวคืนมาได้  ถ้าไม่มีเงินไปไถ่ตัว ก็ต้องทำงานต่างๆ ไปตลอด  ผัวไปเยี่ยมได้ พ่อไปเยี่ยมเยือนได้  แต่ห้ามรับตัวคืนมา จนกว่าจะใช้หนี้หมดเสียก่อน  หลบหนีไม่ได้  นายเงินมีสิทธิตามจับตัวเอาไปเฆี่ยนตีกักขังล่ามโซ่ขังไว้ได้
การทำงานสุดแต่นายเงินจะใช้ให้ทำอะไร หลีกเลี่ยงขัดขืนไม่ได้  จะถูกเฆี่ยนตี กักขัง  ข้าทาสสมัยนั้นจึงเหมือนสัตว์ชนิดหนึ่ง  เป็นวัว ควาย ช้าง ม้า  ต้องตกเป็นทรัพย์สมบัติของนายทาส  ข้าทาสหญิงชาย สมรสอยู่กินด้วยกันได้ มีลูกออกมาก็ต้องตกเป็นทาสเศรษฐีเรือนอื่น  ข้าทาสไม่มีชีวิตเป็นอิสระเสรีภาพ ต้องตกเป็นข้าทาสรับใช้ท่านไปตลอดชีวิต

เมื่อจีนเสม แซ่โหงว ไม่มีเงินสูบฝิ่น   จึงเอาลูกสาวไปขายเป็นทาสในเมืองตระกูลใหญ่  เรียกว่า ตระกูล "นุทกาญจนกุล"  เมื่อมีนามสกุลใช้ในเวลาต่อมา  เศรษฐีตระกูลนี้มีไร่นาหลายร้อยไร่  มีข้าทาสทำนาจำนวนร้อยๆ คน  ข้าทาสเหล่านี้ทำงานตั้งแต่ไถนา คราดนา ดำนา หว่านนา ดายหญ้า เกี่ยวข้าว  ขนข้าวขึ้นลาน นวดข้าว สีข้าวเปลือกเป็นข้าวกล้อง  ตำข้าวกล้องเป็นข้าวสาร
จีนเสม แซ่โหงว มีลูกสาว ๓ คนคือ
๑.นางสาวอิน แซ่โหงว
๒.นางสาวปุก แซ่โหงว
๓.นางสาวเปลี่ยน แซ่โหงว 
      พอโตเป็นสาว อายุ ๑๔ ปี ทำงานได้  จีนเสม แซ่โหงว ก็จูงลูกสาวไปขายเป็นทาสในตระกูล "นุทกาญจนกุล" ที่ตลาดในเมืองนครปฐม  ในราคาคนละ ๘๐ บาท 
น.ส.อิน เกิด พ.ศ. ๒๔๐๐
น.ส.ปุก เกิด พ.ศ. ๒๔๐๒
น.ส.เปลี่ยน เกิด พ.ศ. ๒๔๐๔ 
       จึงถูกจีนเสม แซ่โหงว บิดาจูงมือไปขายเป็นทาส ตั้งแต่ ๑๔ ปีทุกคนๆ ละ ๘๐ บาท
      มันไม่ใช่ของแปลกประหลาด มันเป็นธรรมเนียมในสมัยทาสเป็นเช่นนี้  ผัวขายเมีย พ่อแม่ขายลูก พี่ขายน้อง แม้กระทั่งขายตัวเองเป็นทาส มีอยู่ทั่วไปในสมัยนั้น ซึ่งเป็นยุคสมัยข้าทาส  แม้พลเมืองไทยทุกคน ก็คือไพร่ทาสของรัฐบาล ต้องเข้าทำงานให้หลวง ปีละ ๓ เดือน  ต้องอยู่ในสังกัดเจ้านาย จะอยู่อย่างอิสระเสรีไม่ได้ จะต้องถูกเกณฑ์ไปทำงานหลวงเมื่อใดก็ได้
      ยกตัวอย่างเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงสร้างพระปฐมเจดีย์องค์ใหม่ครอบองค์เดิมให้สูงถึง ๑๒๐ เมตร หรือ ๖๐ วา หรือ ๓ เส้น ก็ทรงเกณฑ์พลเมืองจาก ๔ หัวเมือง ไปทำการก่อสร้าง  เกณฑ์ชาวเมืองกาญจนบุรี ตัดไม้มาทำรากฐาน  เกณฑ์ชาวมอญเมืองสมุทรสงครามปั้นอิฐ  เกณฑ์ชาวเมืองเพชรบุรี ราชบุรี ชาวเมืองนครปฐมมาทำการก่อสร้าง  ทำการก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๙๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๐๐ รวม ๓ ปีจึงสำเร็จ  นี่คือการเกณฑ์แรงงานสมัยทาส  อย่าว่าแต่สมัยทาสในยุคโบราณเลย แม้แต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม  ก็เกณฑ์แรงงานราษฎรไปสร้างเมืองใหม่ที่นครบาลเพชรบูรณ์
       คนไทยยังเบากว่าคนจีน ที่เกณฑ์คนเป็นจำนวนแสนสร้าง
กำแพงเมืองจีน เกณฑ์คนเป็นแสนขุดคลองเป็นอุโมงค์ใต้ดินยาว ๕,๐๐๐ กิโลเมตร  เขมรเกณฑ์คนนับแสนสร้างปราสาทนครวัดนครธม

                เพราฉะนั้นการเอาคนมาเป็นทาสจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสมัยนั้น ซึ่งเป็นยุคสมัยข้าทาส





(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2558

(ชีวประวัติ) "ทรายเม็ดหนึ่ง" ตอน... ก๋งเป็นคนจีน

                                      

                                               
ก๋งเป็นคนจีน

        แม่เป็นคนรูปร่างแบบบาง ผิวขาวเหลือง  แตกต่างกับคนตำบลตาก้องทั่วไป  ที่มีผิวดำคล้ำ  
          แม่เล่าว่าก๋งเป็นคนเจ๊กนอก มาอยู่เมืองไทย ได้ภรรยาเป็นคนไทยตามธรรมเนียมเจ๊กเก่าแก่แต่โบราณ  เพราะไม่มีผู้หญิงจีนมาอยู่เมืองไทย มาแต่ผู้ชาย จึงมาได้ภรรยาเป็นคนไทย  ก๋งชื่อเจ๊กเหงา ได้ภรรยาชื่อยายสี มีบุตรชายชื่อ จีนเสม  
        คำว่าเจ๊กเป็นคำเรียกเจ๊กนอกมาจากเมืองจีน คำว่าจีนเสมเป็นคำเรียกลูกเจ๊กเกิดในเมืองไทย เรียกว่าจีนเสม  เป็นลูกครึ่งจีนไทยเกิดในเมืองไทย
         คำว่า เจ๊ก แปลว่า เก่ง  เพราะเจ๊กที่มาจากเมืองจีนเก่งกว่าคนไทยพื้นบ้าน  ขยันขันแข็งกว่า อดทนกว่า  ทำงานได้ทุกอย่างที่คนไทยพื้นเมืองไม่ทำ  คนไทยทำนา  คนเจ๊กทำไร่   คนไทยเลี้ยงไก่  คนเจ๊กเลี้ยงหมู  คนไทยทำนาด้วยแรงวัวแรงควาย  แต่คนเจ๊กทำไร่ด้วยจอบใช้จอบขุดดินทำไร่    คนไทยทำนาในทุ่งนาที่ลุ่ม  คนเจ๊กทำไร่ในที่ดอน  หักร้างถางป่าด้วยกำลังแขน  ขุดดินด้วยจอบจนเป็นไร่ที่กว้างใหญ่  
        คนไทยปลูกข้าว  แต่คนเจ๊กปลูกอ้อย  ปลูกยาสูบ ปลูกถั่วลิสง  ปลูกพลู  ปลูกพริก ปลูกมะเขือ ทำเป็นไร่กว้างใหญ่   คนเจ๊กตั้งโรงสีรับซื้อข้าวเปลือกชาวนาไปสีเป็นข้าวสารใส่กระสอบขาย  คนเจ๊กทำโรงหีบหีบอ้อย  ทำน้ำตาลทรายแดงขาย  คนเจ๊กทำโรงเหล้า กลั่นเหล้าออกขาย  คนเจ๊กตั้งโรงยาฝิ่่น ขายฝิ่นให้คนสูบยาฝิ่น  คนเจ๊กตั้งร้านค้าในเมือง  ขายสินค้าต่างๆ นานา  ขายของกินของใช้ เสื้อผ้า ยารักษาโรค  เครื่องบวชนาค 
       คนเจ๊กเลี้ยงหมู ฆ่าหมูขาย  เลี้ยงเป็ดฝูงใหญ่  เอาไข่เป็ดขาย คนเจ๊กทำอาชีพที่คนไทยไม่ทำและทำไม่เป็น 

     เรือนฝากระดานของไทยนั้น คนเจ๊กทำขึ้นขายคนไทยหลังละ ๓ ชั่ง เรือนฝากระดานของไทยนั้น ไทยไม่ได้สร้างเอง  แต่คนเจ๊กทำเป็นบ้านสำเร็จรูปขายคนไทย  คนไทยไปซื้อหาเอามาปลูก   ต้นแบบเรือนไทยฝากระดานยอดแหลมนั้น ไม่รู้ว่าคนไทยหรือคนเจ๊กคิดขึ้น  แต่ที่แน่นอนก็คือ เป็นเรือนที่คนเจ๊กทำขายให้คนไทยซื้อมาปลูก รวมทั้งวัดวาอารามที่มีกุฏิหลังคายอดแหลมด้วย
    
     แม่พูดให้ฟังว่า ก๋งของแม่เป็นคนเจ๊กนอก  ชื่อ เจ๊กเหงา  ภรรยาชื่อสี  มีลูกชายชื่อจีนเสม  เป็นคนไทยเชื่อสายเจ๊ก  แม่จึงเป็นหลานเจ๊ก  รูปร่างขาวบาง ผิดกับคนไทยในตำบลตาก้อง 
    
    นายเทพ จึงมีเลือดจีนอยู่ในสายเลือดที่ถ่ายทอดจากแม่ และมีเลือดพ่อ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากวรรณะกษัตริย์สุโขทัยในราชวงศ์พระร่วง 

         



(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558

(ชีวประวัติ) "ทรายเม็ดหนึ่ง" ตอน...เวลาตกฟาก

                                                                                  

 เวลาตกฟาก


         พ่อจดไว้ในสมุดว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙
         "เด็กชายเทพ  เกิดวันอังคาร แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เวลา ๓ โมงเช้า ปีขาล ปีนี้ได้ข้าว  ๓ เกวียน"
     ข้าพเจ้าคลอดออกมาจากท้องแม่  เวลา ๓ โมงเช้า เวลาพระบิณฑบาต อันที่จริงเวลาไม่แน่นอน  เพราะที่บ้านไม่มีนาฬิกา พ่อกะเวลาเอาเองจากตะวัน       
      โบราณว่าเวลาเกิดนั้นเป็นเวลาตกฟาก  คำนี้ตรงตัวที่สุด เพราะว่าพื้นเรือนที่แม่คลอดนั้นเป็นพื้นฟาก  ทำด้วยไม้ไผ่สับ  ปูเป็นพื้นเรืยน  ฝาเรือนบุด้วยใบจาก หลังคามุงด้วยใบจาก เป็นกระท่อมสูงจากพื้นดินราว ๒ ศอก  กว้างประมาณ ๔ วา  ยาวประมาณ ๘ วา  เป็นกระท่อม ๒ ห้อง กั้นฝา แบ่งเป็นห้องในสำหรับเก็บข้าวของ ห้องนอกสำหรับนอนมีระเบียงสำหรับทำครัวหุงข้าว  มีนอกชานสำหรับตั้งตุ่มน้ำกินน้ำใช้ในตุ่มเดียวกันเป็นตุ่มดินเผา 
      พ่อแม่เป็นชาวนา  พ่อชื่อโอ้ แม่ชื่อถม  มีนาที่คุณยายยกให้แม่ ๑๑ ไร่  มีที่ดินปลูกบ้าน ๗ ไร่  ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านเด่นตาเอื่ยม  ตำบลตาก้อง  อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม  อยู่ทางทิศเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์  ไกลออกไป ๘ กิโลเมตร  บ้านตั้งอยู่ริมทุ่งมดตาน้อย อันเป็นทุ่งนาเล็กๆ มองจากฝั่งนี้เห็นทิวไม้ฝั่งตรงข้ามได้ มองเห็นควายตัวเล็กๆ เท่าหมู  ในท้องทุ่งหน้าแล้งเป็นสีน้ำตาลจากซังข้าว ในหน้าฝนมีต้นข้าวเขียวชะอุ่มเต็มท้องทุ่ง ในหน้าเกี่ยวท้องทุ่งสีเหลืองด้วยรวงข้าว  ทางด้านทิศตะวันตกเป็นท้องทุ่งนา ทุ่งมดตาน้อย ทางด้านทิศตะวันออกเรียกว่า โรงหีบ  เป็นป่าละเมาะ พื้นดินกว้างใหญ่   เพราะเคยเป็นไร่อ้อย  มีโรงหีบอ้อยของคนจีน  ต่อมาเลิกกิจการจึงกลายเป็นโรงร้าง มีเนื้อที่  ๒๐๐ ไร่ ที่บ้านเป็นไร่คนจีนปลูกพืชผักผลไม้ต่างๆ  ต่อมาซื้อไว้ ๗ ไร่ แบ่งกับผู้ใหญ่ไผ่  อยู่อินทร์  พี่ชายของแม่ ๑๐ไร่   แม่ซื้อไว้ ๗ ไร่   ปลูกบ้านอยู่รั้วติดกัน  บริเวณบ้านมีลูกมอญ  ป้าเจิม ศรีงามดี  มาอาศัยปลูกบ้านอยู่หลังหนึ่งกับพี่ทิดผิว  ศรีสุข  หลานแม่ กับนางหมด ภรรยา มาอาศัยปลูกบ้านอยู่อีกหลังหนึ่ง  บริเวณบ้านจึงมีบ้าน ๓ หลังด้วยกัน พ่อเลี้ยงควายไว้ทำนาตัวหนึ่ง ชื่ออีเหลือง มีม้าสำหรับขี่ไปไหนๆ ตัวหนึ่ง  มีทรัพย์สมบัติอยู่เพียงไถนาอีกคันหนึ่ง คราดคันหนึ่งสีข้าวเปลือก ครกตำข้าว ที่โตมาก็เห็นมีอยู่เท่านี้  เป็นครอบครัวชาวนาที่มีที่นาของตนเอง ไม่ต้องเช่าเขา  มีที่ดินปลูกบ้านอยู่เองเป็นเรือนฝากระดานเครื่องผูกมุงจาก  และรับจำนำนาเขาไว้อีก ๕ ปี  ติดกับผืนที่ดินปลูกบ้าน ในราคา ๒๐๐ บาท   ทรัพย์สมบัติท้้งหมดมีอยู่เพียงเท่านี้
      ต่อมาอีกหลายปี ทำนาได้ขายข้าวได้  จึงมีเงินซื้อที่ดินไว้อีก ๓๕ ไร่ รวมเรามีที่ดิน ๗ ไร่ บวก ๑๑ ไร่ บวก ๕ ไร่บวก ๓๕ ไร่ จึงมีที่ดิน ๕๘ ไร่  จะพูดว่าเป็นชาวนาพอมีอันจะกินก็ไม่ถนัด  เพราะบางคราวฝนแล้งติดต่อกัน ๓ ปี ทำนาไม่ได้ข้าวเลย ก็กลายเป็นชาวนาที่อดอยากยากจนไป  สลับฉากกันไปกับชาวนามีอันจะกินกับชาวนาอดอยากยากจน   ครอบครัวเราไม่เคยเป็นชาวนาร่ำรวยเลย ตั้งแต่ข้าพเจ้ายังเด็กจำความได้จนกระทั่งเป็นหนุ่ม  และครอบครัวชาวนาที่ร่ำรวยไม่มีเลยในตำบลตาก้อง  ต่างจากชาวนาพอมีอันจะกิน ปลูกเรือนฝากระดานอยู่  มีนาหลายสิบไร่ อย่างครอบครัวของป่าไผ่ ใจดี และครอบครัวของป้าชื่น อยู่อินทร์  พี่สาวของแม่  เรียกว่าครอบครัวชาวนามีอันจะกิน ไม่ใช่ครอบครัวชาวนาที่มั่งคั่งมั่งมีศรีสุขอะไร 
   ก็ขอสรุปลงว่า  ครอบครัวของเราเป็นครอบครัวชาวนาที่ค่อนข้างยากจน   ความยากจนของตระกูลชาวนา นี้แหละมันเป็นทั้งปมด้อย และแรงผลักดันชีวิตจิตใจของข้าพเจ้าให้รังเกียจเกลียดชังชีวิตชาวนาที่สุด  ชีวิตชาวนาเป็นชีวิตที่น่าเศร้าที่สุด  ต้องอาศัยเทวดาฟ้าฝนท่านเมตตากรุณาอย่างเดียว  ไม่มีคลองชลประทานส่งน้ำ ถนนหนทาง ประปาไฟฟ้า  โรงพยาบาลไม่เคยมีในตำบลตาก้องและตำบลใกล้เคียง  ชาวนาอยู่กันตามยถากรรม ไม่ได้รับการเหลียวแลอะไรจากรัฐบาลเลย  และชาวนาทุกคนก็ไม่มีปัญหา ไม่มีปากเสียงจะเรียกร้องจากรัฐบาลด้วย   เราไม่รู้ดอกว่า มีรัฐบาลปกครองประเทศ  เรารู้จักแต่ผู้ใหญ่ไผ่ อยู่อินทร์  กำนันเดิม ส้มแดงเช้า คือผู้ปกครองตำบลหมู่บ้าน  นายอำเภอเจ้าเมือง ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีใครเคยเห็นหน้า  ตำบลตาก้องอยู่ห่างจากตัวเมืองเพียง ๘ กิโลเมตร แต่ดูเหมือนว่าเป็นบ้านนอกคอกนา เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนเสียจริงๆ  ชาวนาอยู่กันเหมือนนกในป่า  หากินกันไปตามยถากรรมจริงๆ  แสงสีความเจริญใดๆ ไม่เคยส่องไฟถึงหมู่บ้านชาวนาในตำบลตาก้องเลย  อยู่กันอย่างคนบ้านนาบ้านนอกจริงๆ  แสงสีความเจริญอย่างใดๆ ไม่เคยสาดส่องเข้าไปถึงบ้านตาก้อง  
      ที่เรียกว่า ตำบลตาก้อง  มีตำนานเล่าว่า มีเจ๊กคนหนึ่งทำไร่ปลูกอ้อยตั้งหีบอ้อย ทำน้ำตาลทรายแดงออกขายจนมั่งคั่งร่ำรวย  แต่มีภรรยาเป็นคนไทยพื้นบ้านนี้ นับถือพุทธศาสนา จึงได้สร้างวัดขึ้นไว้วัดหนึ่ง  เป็นวัดประจำตำบล เรียกชื่อว่า วัดไอ้ก้อง ตามชื่อเจ๊กคนนั้น  เมื่อตั้งตำบลขึ้นทางราชการเห็นว่าเป็นคำหยาบคาย จึงได้ตั้งชื่อตำบลว่า ตำบลตาก้อง  วัดนี้ต้้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อสมีมีวัดโพธิ์ ได้พาญาติโยมไปนมัสการพระแท่นดงรัง เมื่อพ.ศ. ๒๓๗๙ ได้แต่งนิราศพระแท่นดงรังไว้  เมื่อเดินทางผ่านบ้านตาก้องก็ได้กล่าวไว้ว่า ได้พักค้างคืนที่บ้านไอ้ก้อง  มีชื่อเป็นหลักฐานว่า บ้านไอ้ก้อง เมื่อพ.ศ. ๒๓๗๘  
      พระมหามี หรือพระสมีมี ได้พรรณนาไว้ในนิราศพระแท่นดงรังว่า
            
                         "ข้ามห้วยหนองคลองบึงถึงไอ้ก้อง
                          สกุณร้องรัญจวนถึงนวลหงส์
                          พอโพล้เพล้เพลาจะค่ำลง
                          ให้งวยงงปนง่วงเหงาเศร้าอุทัย 
                          เสียงจักจั่นแจ้วแจ้วให้แว่วหวาด
                          หนาวอนาถนึกน่าน้ำตาไหล 
                          ยะเยือกเย็นเส้นหญ้าพนาลัย
                          วังเวงใจจรมาในราตรี
                          แล้วหยุดนอนในป่าเวลาดึก 
                          คนึงนึกถึงน้องยิ่งหมองศรี
                          หักใบใม้ปูลาดกวาดธุลี
                          กองอัคคีรอบเกวียนเวียนระวังฯ"


     พระสมีมีเดินทางไปเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙  ว่าเวลานั้น บ้านไอ้ก้องยังเป็นป่าดงอยู่มาก  พระสมีมีเป็นเปรียญ เป็นเสมียนของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพน  ต่อมาลาสึก เรียกว่า "เสมียนมี"  เข้ารับราชการอยู่กับกรมขุนอิศเรศรังสรรค์  (สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี)  ได้เป็นหมื่นพรหมสมพัตศร เมื่อพ.ศ. ๒๓๘๗  มีทายาทสืบสกุล   ต่อมาได้รับพระราชทานนามสกุลว่า "มีระเสน"  (มีระ แปลว่า ลม, เสนแปลว่า เสนา  รวมแปลว่า นายเสนาลม)  เพราะทำหน้าที่เป็นเสมียนงานเบาๆ

     สมัยโบราณท่านแบ่งอาชีพคนออกเป็น ๔ เหล่า

           ๑.  ปถวี   พวกทำงานเป็นชาวนาชาวไร่
           ๒.  อาโป พวกประมง
           ๓.  วาโย  พวกทำงานราชการพลเรือน
           ๔.  เตโช  พวกทำงานถืออาวุธปืนไฟ  คือ ทหาร ตำรวจ 

    นายมีเมื่อบวชอยู่  เป็นเสมียนของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส จึงเรียกพระสมีมี  สึกออกมาเรียก "เสมียนมี"  เกิด พ.ศ. ๒๓๔๐  บุตรพระโหราธิบดี (สมุห์)  เป็นเชื้อสายพราหมณ์  ลูกศิษย์สุนทรภู่  ภายหลังเป็นหมื่่นพรหมสมพัตศร  แล้วเป็นขุนศุภมาตราเมืองชัยนาท ต้นสกุล " มีระเสน" 
       
                             


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2558

(ชีวประวัติ) เทพ สุนทรศารทูล เขียนถึงชีวิตที่ดุจดั่ง "ทรายเม็ดหนึ่ง"


                                                                  
ชีวประวัติ 
                       
                                                           

   

 เทพ  สุนทรศารทูล




เขียนถึงชีวิต
ที่เล็กน้อยดุจดั่ง

“ทรายเม็ดหนึ่ง”










คำนำหน้าเรื่อง




       เขียนเรื่องคนอื่นมามากแล้ว  วันนี้จะขออนุมัติต่อท่านผู้อ่านเขียนเรื่องตัวเองบ้าง โดยทำใจให้ทะนงองอาจ  ไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึงต่อคำวิพากย์วิจารณ์  นินทาว่าร้ายของผู้ใด  เพราะรู้สึกตัวว่ามิใช่บุคคลสำคัญระดับใดๆ  จึงแน่ใจว่าไม่มีใครสนใจเอาเรื่องของเราไปเขียน จำเป็นต้องลงมือเขียนเรื่องชีวิตของตัวเองไว้ ต่อไปภายหน้าพี่น้องลูกหลานอยากรู้เรื่อง  จะได้ไม่ต้องลำบากไปเที่ยวถามใคร  อ่านได้จากเรื่องนี้  โดยขอรับรองว่าจะเขียนแต่ความจริง ไม่ปนเท็จ  เพราะไม่มีประโยชน์อะไร ที่จะต้องเขียนเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องจริงของตัวเอง  แน่นอนว่าตัวเองไม่ใช่บุคคลสำคัญ  จึงย่อมไม่มีเรื่องสำคัญเกี่ยวกับบ้านเมืองอะไร เป็นเรื่องธรรมดาของคนที่เกิดมาเป็นพลเมืองธรรมดาสามัญคนหนึ่งเท่านั้น แต่มีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากท่านผู้อื่นอยู่บ้างตามประสา ชีวิตของคนที่เกิดมาในโลกนี้ไม่มีใครเหมือนใคร  ไม่มีใครเอาเยี่ยงอย่างชีวิตของใครได้ เพราะวิบากกรรมที่ทำไว้ในชาติก่อนแตกต่างกัน  จึงเกิดมามีชีวิตที่แตกต่างกันไปตามยถากรรม ไม่มีใครจะสามารถช่วยใครได้ ล้วนแล้วแต่ต้องช่วยตัวเอง โดยมีแรงใจของท่านที่มีเมตตาจิตช่วยชี้ทางให้ได้บ้างเท่านั้น  ทางชีวิตต้องเดินเอง  โดยมีท่านผู้อื่นชี้ทางให้เท่านั้น  ถึงแม้จะเดินทางชีวิตผิดถูกอย่างไร ก็ได้เดินทางชีวิตมานานถึง  ๗๕ ปี  จึงได้เขียนเรื่องนี้ เล่าเรื่องชีวิตจริงให้พี่น้องลูกหลานฟังไว้เป็นหลักฐาน  เผื่อว่าวันหน้า ลูกหลานอยากรู้เรื่องชีวิตจริงของปู่ทวด  จะได้รู้จากเรื่องนี้  
ถึงแม้ว่าชีวิตของข้าพเจ้า จะเป็นชีวิตเล็กน้อยเปรียบประดุจทรายเม็ดหนึ่งที่ชายหาดเกาะล้าน ก็เป็นชีวิตหนึ่งใน ๖,๐๐๐ ล้านคนในโลกนี้ จึงตั้่งชื่อเรื่องนี้ว่า "ทรายเม็ดหนึ่ง" ไม่ใช่ "ดวงดาวหนึ่งในจักรวาล"  ดอกท่านเอ๋ย 
                     

                                                เทพ  สุนทรศารทูล

                                                        ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๔





  (ติดตามอ่านเนื้อเรื่องได้ในบทต่อไป)