จีนเสม แซ่โหงว
จีนเสม แซ่โหงว ได้ภรรยาเป็นคนไทย ชื่อนางสร้อยเกี้ยว
เป็นชื่อเรียกสร้อยทองเส้นใหญ่ ใช้คล้องคอพาดไหล่ เหมือนห่มผ้าสไบเฉียง
เป็นลูกสาวคนมั่งมีในตำบล
จีนเสม แซ่โหงว มีลูกกับนางสร้อยเกี้ยว ๓ คน
เป็นลูกสาวทั้งหมด ไม่มีลูกชาย สมัยนั้นมีโรงยาฝิ่นมาตั้งขายในตำบลนั้น
จีนเสม แซ่โหงว ชอบสูบฝิ่นมาก จนติดฝิ่นงอมแงม ฐานะก็ยากจนลง
สมัยนั้นยังมีข้าทาสเอาคนไปขายเป็นทาสรับใช้เศรษฐีได้
ผัวก็ขายเมียได้ พ่อก็ขายลูกได้
ค่าตัวทาสอย่างธรรมดาก็ราคา ๑ ชั่ง ๒ ชั่ง
๓ ชั่ง ๔ ชั่ง ๕ ชั่ง เป็นอย่างสูง
ได้เงินมาแล้วก็ต้องเอาลูกเอาเมียไปให้เศรษฐีใช้เป็นทาส เรียกว่า
"ขัดดอก" คือ ทำงานต่างดอก ไม่มีเงินเดือน
เป็นการทำงานแทนดอกเบี้ย ถ้ามีเงินก็เอาเงินไปไถ่ตัวคืนมาได้
ถ้าไม่มีเงินไปไถ่ตัว ก็ต้องทำงานต่างๆ ไปตลอด ผัวไปเยี่ยมได้
พ่อไปเยี่ยมเยือนได้ แต่ห้ามรับตัวคืนมา จนกว่าจะใช้หนี้หมดเสียก่อน
หลบหนีไม่ได้
นายเงินมีสิทธิตามจับตัวเอาไปเฆี่ยนตีกักขังล่ามโซ่ขังไว้ได้
การทำงานสุดแต่นายเงินจะใช้ให้ทำอะไร
หลีกเลี่ยงขัดขืนไม่ได้ จะถูกเฆี่ยนตี กักขัง
ข้าทาสสมัยนั้นจึงเหมือนสัตว์ชนิดหนึ่ง เป็นวัว ควาย ช้าง ม้า
ต้องตกเป็นทรัพย์สมบัติของนายทาส ข้าทาสหญิงชาย สมรสอยู่กินด้วยกันได้
มีลูกออกมาก็ต้องตกเป็นทาสเศรษฐีเรือนอื่น ข้าทาสไม่มีชีวิตเป็นอิสระเสรีภาพ
ต้องตกเป็นข้าทาสรับใช้ท่านไปตลอดชีวิต
เมื่อจีนเสม แซ่โหงว ไม่มีเงินสูบฝิ่น จึงเอาลูกสาวไปขายเป็นทาสในเมืองตระกูลใหญ่
เรียกว่า ตระกูล "นุทกาญจนกุล"
เมื่อมีนามสกุลใช้ในเวลาต่อมา เศรษฐีตระกูลนี้มีไร่นาหลายร้อยไร่
มีข้าทาสทำนาจำนวนร้อยๆ คน ข้าทาสเหล่านี้ทำงานตั้งแต่ไถนา คราดนา
ดำนา หว่านนา ดายหญ้า เกี่ยวข้าว ขนข้าวขึ้นลาน นวดข้าว
สีข้าวเปลือกเป็นข้าวกล้อง ตำข้าวกล้องเป็นข้าวสาร
จีนเสม แซ่โหงว มีลูกสาว ๓ คนคือ
๑.นางสาวอิน แซ่โหงว
๒.นางสาวปุก แซ่โหงว
๓.นางสาวเปลี่ยน แซ่โหงว
พอโตเป็นสาว อายุ ๑๔ ปี
ทำงานได้ จีนเสม แซ่โหงว ก็จูงลูกสาวไปขายเป็นทาสในตระกูล
"นุทกาญจนกุล" ที่ตลาดในเมืองนครปฐม ในราคาคนละ
๘๐ บาท
น.ส.อิน เกิด พ.ศ. ๒๔๐๐
น.ส.ปุก เกิด พ.ศ. ๒๔๐๒
น.ส.เปลี่ยน เกิด พ.ศ. ๒๔๐๔
จึงถูกจีนเสม แซ่โหงว
บิดาจูงมือไปขายเป็นทาส ตั้งแต่ ๑๔ ปีทุกคนๆ ละ ๘๐ บาท
มันไม่ใช่ของแปลกประหลาด
มันเป็นธรรมเนียมในสมัยทาสเป็นเช่นนี้ ผัวขายเมีย พ่อแม่ขายลูก พี่ขายน้อง
แม้กระทั่งขายตัวเองเป็นทาส มีอยู่ทั่วไปในสมัยนั้น ซึ่งเป็นยุคสมัยข้าทาส
แม้พลเมืองไทยทุกคน ก็คือไพร่ทาสของรัฐบาล ต้องเข้าทำงานให้หลวง ปีละ ๓
เดือน ต้องอยู่ในสังกัดเจ้านาย จะอยู่อย่างอิสระเสรีไม่ได้
จะต้องถูกเกณฑ์ไปทำงานหลวงเมื่อใดก็ได้
ยกตัวอย่างเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระปฐมเจดีย์องค์ใหม่ครอบองค์เดิมให้สูงถึง ๑๒๐ เมตร หรือ ๖๐ วา
หรือ ๓ เส้น ก็ทรงเกณฑ์พลเมืองจาก ๔ หัวเมือง ไปทำการก่อสร้าง
เกณฑ์ชาวเมืองกาญจนบุรี ตัดไม้มาทำรากฐาน เกณฑ์ชาวมอญเมืองสมุทรสงครามปั้นอิฐ
เกณฑ์ชาวเมืองเพชรบุรี ราชบุรี ชาวเมืองนครปฐมมาทำการก่อสร้าง
ทำการก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๙๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๐๐ รวม ๓ ปีจึงสำเร็จ
นี่คือการเกณฑ์แรงงานสมัยทาส อย่าว่าแต่สมัยทาสในยุคโบราณเลย
แม้แต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม
ก็เกณฑ์แรงงานราษฎรไปสร้างเมืองใหม่ที่นครบาลเพชรบูรณ์
คนไทยยังเบากว่าคนจีน
ที่เกณฑ์คนเป็นจำนวนแสนสร้าง
กำแพงเมืองจีน เกณฑ์คนเป็นแสนขุดคลองเป็นอุโมงค์ใต้ดินยาว ๕,๐๐๐
กิโลเมตร เขมรเกณฑ์คนนับแสนสร้างปราสาทนครวัดนครธม
เพราฉะนั้นการเอาคนมาเป็นทาสจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสมัยนั้น
ซึ่งเป็นยุคสมัยข้าทาส
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น