วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558

(ชีวประวัติ) "ทรายเม็ดหนึ่ง" ตอน...เวลาตกฟาก

                                                                                  

 เวลาตกฟาก


         พ่อจดไว้ในสมุดว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙
         "เด็กชายเทพ  เกิดวันอังคาร แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เวลา ๓ โมงเช้า ปีขาล ปีนี้ได้ข้าว  ๓ เกวียน"
     ข้าพเจ้าคลอดออกมาจากท้องแม่  เวลา ๓ โมงเช้า เวลาพระบิณฑบาต อันที่จริงเวลาไม่แน่นอน  เพราะที่บ้านไม่มีนาฬิกา พ่อกะเวลาเอาเองจากตะวัน       
      โบราณว่าเวลาเกิดนั้นเป็นเวลาตกฟาก  คำนี้ตรงตัวที่สุด เพราะว่าพื้นเรือนที่แม่คลอดนั้นเป็นพื้นฟาก  ทำด้วยไม้ไผ่สับ  ปูเป็นพื้นเรืยน  ฝาเรือนบุด้วยใบจาก หลังคามุงด้วยใบจาก เป็นกระท่อมสูงจากพื้นดินราว ๒ ศอก  กว้างประมาณ ๔ วา  ยาวประมาณ ๘ วา  เป็นกระท่อม ๒ ห้อง กั้นฝา แบ่งเป็นห้องในสำหรับเก็บข้าวของ ห้องนอกสำหรับนอนมีระเบียงสำหรับทำครัวหุงข้าว  มีนอกชานสำหรับตั้งตุ่มน้ำกินน้ำใช้ในตุ่มเดียวกันเป็นตุ่มดินเผา 
      พ่อแม่เป็นชาวนา  พ่อชื่อโอ้ แม่ชื่อถม  มีนาที่คุณยายยกให้แม่ ๑๑ ไร่  มีที่ดินปลูกบ้าน ๗ ไร่  ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านเด่นตาเอื่ยม  ตำบลตาก้อง  อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม  อยู่ทางทิศเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์  ไกลออกไป ๘ กิโลเมตร  บ้านตั้งอยู่ริมทุ่งมดตาน้อย อันเป็นทุ่งนาเล็กๆ มองจากฝั่งนี้เห็นทิวไม้ฝั่งตรงข้ามได้ มองเห็นควายตัวเล็กๆ เท่าหมู  ในท้องทุ่งหน้าแล้งเป็นสีน้ำตาลจากซังข้าว ในหน้าฝนมีต้นข้าวเขียวชะอุ่มเต็มท้องทุ่ง ในหน้าเกี่ยวท้องทุ่งสีเหลืองด้วยรวงข้าว  ทางด้านทิศตะวันตกเป็นท้องทุ่งนา ทุ่งมดตาน้อย ทางด้านทิศตะวันออกเรียกว่า โรงหีบ  เป็นป่าละเมาะ พื้นดินกว้างใหญ่   เพราะเคยเป็นไร่อ้อย  มีโรงหีบอ้อยของคนจีน  ต่อมาเลิกกิจการจึงกลายเป็นโรงร้าง มีเนื้อที่  ๒๐๐ ไร่ ที่บ้านเป็นไร่คนจีนปลูกพืชผักผลไม้ต่างๆ  ต่อมาซื้อไว้ ๗ ไร่ แบ่งกับผู้ใหญ่ไผ่  อยู่อินทร์  พี่ชายของแม่ ๑๐ไร่   แม่ซื้อไว้ ๗ ไร่   ปลูกบ้านอยู่รั้วติดกัน  บริเวณบ้านมีลูกมอญ  ป้าเจิม ศรีงามดี  มาอาศัยปลูกบ้านอยู่หลังหนึ่งกับพี่ทิดผิว  ศรีสุข  หลานแม่ กับนางหมด ภรรยา มาอาศัยปลูกบ้านอยู่อีกหลังหนึ่ง  บริเวณบ้านจึงมีบ้าน ๓ หลังด้วยกัน พ่อเลี้ยงควายไว้ทำนาตัวหนึ่ง ชื่ออีเหลือง มีม้าสำหรับขี่ไปไหนๆ ตัวหนึ่ง  มีทรัพย์สมบัติอยู่เพียงไถนาอีกคันหนึ่ง คราดคันหนึ่งสีข้าวเปลือก ครกตำข้าว ที่โตมาก็เห็นมีอยู่เท่านี้  เป็นครอบครัวชาวนาที่มีที่นาของตนเอง ไม่ต้องเช่าเขา  มีที่ดินปลูกบ้านอยู่เองเป็นเรือนฝากระดานเครื่องผูกมุงจาก  และรับจำนำนาเขาไว้อีก ๕ ปี  ติดกับผืนที่ดินปลูกบ้าน ในราคา ๒๐๐ บาท   ทรัพย์สมบัติท้้งหมดมีอยู่เพียงเท่านี้
      ต่อมาอีกหลายปี ทำนาได้ขายข้าวได้  จึงมีเงินซื้อที่ดินไว้อีก ๓๕ ไร่ รวมเรามีที่ดิน ๗ ไร่ บวก ๑๑ ไร่ บวก ๕ ไร่บวก ๓๕ ไร่ จึงมีที่ดิน ๕๘ ไร่  จะพูดว่าเป็นชาวนาพอมีอันจะกินก็ไม่ถนัด  เพราะบางคราวฝนแล้งติดต่อกัน ๓ ปี ทำนาไม่ได้ข้าวเลย ก็กลายเป็นชาวนาที่อดอยากยากจนไป  สลับฉากกันไปกับชาวนามีอันจะกินกับชาวนาอดอยากยากจน   ครอบครัวเราไม่เคยเป็นชาวนาร่ำรวยเลย ตั้งแต่ข้าพเจ้ายังเด็กจำความได้จนกระทั่งเป็นหนุ่ม  และครอบครัวชาวนาที่ร่ำรวยไม่มีเลยในตำบลตาก้อง  ต่างจากชาวนาพอมีอันจะกิน ปลูกเรือนฝากระดานอยู่  มีนาหลายสิบไร่ อย่างครอบครัวของป่าไผ่ ใจดี และครอบครัวของป้าชื่น อยู่อินทร์  พี่สาวของแม่  เรียกว่าครอบครัวชาวนามีอันจะกิน ไม่ใช่ครอบครัวชาวนาที่มั่งคั่งมั่งมีศรีสุขอะไร 
   ก็ขอสรุปลงว่า  ครอบครัวของเราเป็นครอบครัวชาวนาที่ค่อนข้างยากจน   ความยากจนของตระกูลชาวนา นี้แหละมันเป็นทั้งปมด้อย และแรงผลักดันชีวิตจิตใจของข้าพเจ้าให้รังเกียจเกลียดชังชีวิตชาวนาที่สุด  ชีวิตชาวนาเป็นชีวิตที่น่าเศร้าที่สุด  ต้องอาศัยเทวดาฟ้าฝนท่านเมตตากรุณาอย่างเดียว  ไม่มีคลองชลประทานส่งน้ำ ถนนหนทาง ประปาไฟฟ้า  โรงพยาบาลไม่เคยมีในตำบลตาก้องและตำบลใกล้เคียง  ชาวนาอยู่กันตามยถากรรม ไม่ได้รับการเหลียวแลอะไรจากรัฐบาลเลย  และชาวนาทุกคนก็ไม่มีปัญหา ไม่มีปากเสียงจะเรียกร้องจากรัฐบาลด้วย   เราไม่รู้ดอกว่า มีรัฐบาลปกครองประเทศ  เรารู้จักแต่ผู้ใหญ่ไผ่ อยู่อินทร์  กำนันเดิม ส้มแดงเช้า คือผู้ปกครองตำบลหมู่บ้าน  นายอำเภอเจ้าเมือง ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีใครเคยเห็นหน้า  ตำบลตาก้องอยู่ห่างจากตัวเมืองเพียง ๘ กิโลเมตร แต่ดูเหมือนว่าเป็นบ้านนอกคอกนา เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนเสียจริงๆ  ชาวนาอยู่กันเหมือนนกในป่า  หากินกันไปตามยถากรรมจริงๆ  แสงสีความเจริญใดๆ ไม่เคยส่องไฟถึงหมู่บ้านชาวนาในตำบลตาก้องเลย  อยู่กันอย่างคนบ้านนาบ้านนอกจริงๆ  แสงสีความเจริญอย่างใดๆ ไม่เคยสาดส่องเข้าไปถึงบ้านตาก้อง  
      ที่เรียกว่า ตำบลตาก้อง  มีตำนานเล่าว่า มีเจ๊กคนหนึ่งทำไร่ปลูกอ้อยตั้งหีบอ้อย ทำน้ำตาลทรายแดงออกขายจนมั่งคั่งร่ำรวย  แต่มีภรรยาเป็นคนไทยพื้นบ้านนี้ นับถือพุทธศาสนา จึงได้สร้างวัดขึ้นไว้วัดหนึ่ง  เป็นวัดประจำตำบล เรียกชื่อว่า วัดไอ้ก้อง ตามชื่อเจ๊กคนนั้น  เมื่อตั้งตำบลขึ้นทางราชการเห็นว่าเป็นคำหยาบคาย จึงได้ตั้งชื่อตำบลว่า ตำบลตาก้อง  วัดนี้ต้้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อสมีมีวัดโพธิ์ ได้พาญาติโยมไปนมัสการพระแท่นดงรัง เมื่อพ.ศ. ๒๓๗๙ ได้แต่งนิราศพระแท่นดงรังไว้  เมื่อเดินทางผ่านบ้านตาก้องก็ได้กล่าวไว้ว่า ได้พักค้างคืนที่บ้านไอ้ก้อง  มีชื่อเป็นหลักฐานว่า บ้านไอ้ก้อง เมื่อพ.ศ. ๒๓๗๘  
      พระมหามี หรือพระสมีมี ได้พรรณนาไว้ในนิราศพระแท่นดงรังว่า
            
                         "ข้ามห้วยหนองคลองบึงถึงไอ้ก้อง
                          สกุณร้องรัญจวนถึงนวลหงส์
                          พอโพล้เพล้เพลาจะค่ำลง
                          ให้งวยงงปนง่วงเหงาเศร้าอุทัย 
                          เสียงจักจั่นแจ้วแจ้วให้แว่วหวาด
                          หนาวอนาถนึกน่าน้ำตาไหล 
                          ยะเยือกเย็นเส้นหญ้าพนาลัย
                          วังเวงใจจรมาในราตรี
                          แล้วหยุดนอนในป่าเวลาดึก 
                          คนึงนึกถึงน้องยิ่งหมองศรี
                          หักใบใม้ปูลาดกวาดธุลี
                          กองอัคคีรอบเกวียนเวียนระวังฯ"


     พระสมีมีเดินทางไปเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙  ว่าเวลานั้น บ้านไอ้ก้องยังเป็นป่าดงอยู่มาก  พระสมีมีเป็นเปรียญ เป็นเสมียนของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพน  ต่อมาลาสึก เรียกว่า "เสมียนมี"  เข้ารับราชการอยู่กับกรมขุนอิศเรศรังสรรค์  (สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี)  ได้เป็นหมื่นพรหมสมพัตศร เมื่อพ.ศ. ๒๓๘๗  มีทายาทสืบสกุล   ต่อมาได้รับพระราชทานนามสกุลว่า "มีระเสน"  (มีระ แปลว่า ลม, เสนแปลว่า เสนา  รวมแปลว่า นายเสนาลม)  เพราะทำหน้าที่เป็นเสมียนงานเบาๆ

     สมัยโบราณท่านแบ่งอาชีพคนออกเป็น ๔ เหล่า

           ๑.  ปถวี   พวกทำงานเป็นชาวนาชาวไร่
           ๒.  อาโป พวกประมง
           ๓.  วาโย  พวกทำงานราชการพลเรือน
           ๔.  เตโช  พวกทำงานถืออาวุธปืนไฟ  คือ ทหาร ตำรวจ 

    นายมีเมื่อบวชอยู่  เป็นเสมียนของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส จึงเรียกพระสมีมี  สึกออกมาเรียก "เสมียนมี"  เกิด พ.ศ. ๒๓๔๐  บุตรพระโหราธิบดี (สมุห์)  เป็นเชื้อสายพราหมณ์  ลูกศิษย์สุนทรภู่  ภายหลังเป็นหมื่่นพรหมสมพัตศร  แล้วเป็นขุนศุภมาตราเมืองชัยนาท ต้นสกุล " มีระเสน" 
       
                             


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น